

สรุปข่าว
วันนี้ ( 19 ต.ค. 66 )กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนฉบับที่ 10 “พายุซันปา” โดยเมื่อเวลา 16.00 น. “พายุโซนร้อนซันปา” มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 20.5องศาเหนือ ลองจิจูด 108.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนืออย่างช้าๆ เข้าสู่ชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้
อย่างไรก็ตามพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th
หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ออกประกาศ ณ วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เวลา 17.00 น.
ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เวลา 23.00 น
สำหรับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศสำหรับวันที่ 20 - 22 ต.ค. 2566 โดยระบุว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่ง เกิดขึ้นได้ในระยะแรก
หลังจากนั้นฝนจะลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 23- 25 ต.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคใต้ฝั่งตะวันออก
สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยตลอดช่วง โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตลอดช่วง
อนึ่ง “พายุโซนร้อนซันปา” (SANBA) บริเวณอ่าวตังเกี๋ย คาดว่าจะอ่อนกำลังลงในช่วงวันที่ 20- 21 ต.ค. 66 สำหรับหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย
ข้อควรระวัง : ในช่วงวันที่ 20 - 22 ต.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย สำหรับประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง
ที่มา กรมอุตุฯ
ภาพจาก AFP
ที่มาข้อมูล : -