เตือนพายุหมุนเขตร้อนเข้าไทย ระดับไหนที่ต้องเฝ้าระวัง
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า สิงหาคมและกันยายนเป็นช่วงที่ฝนชุกที่สุดของปี มีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก
สำหรับพายุหมุนเขตร้อน มักเกิดใกล้เส้นศูนย์สูตร โดยจะเกิดขึ้นเมื่อมีหย่อมความกดอากาศต่ำและเกิดขึ้นบริเวณผิวน้ำทะเล ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 27 องศา ซึ่งทิศทางการหมุนของพายุ ถ้าหากเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตรจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา แต่หากเกิดใกล้เส้นศูนย์สูตรหรือโซนซีกโลกใต้จะหมุนวนตามเข็มนาฬิกา พายุหมุนเขตร้อน มีความรุนแรง 3 ระดับ ระดับแรกคือ พายุดีเปรสชัน ถือเป็นพายุที่มีความเร็วลมต่ำที่สุดในบรรดาพายุหมุนเขตร้อน มีความเร็วลมไม่เกิน 63 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดีเปรสชั่นนั้นไม่มีลมแรงพอในการพังบ้านเรือน แต่ฝนอาจตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วม ระดับสองคือ พายุโซนร้อน ความเร็วลมจะเพิ่มขึ้น มีความเร็วลมไม่เกิน 118 กิโลเมตร/ชั่วโมง แรงลม แรงพอจะพังบ้านเรือนที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรง และทำให้มีฝนตกหนักมากขึ้นได้ และถ้าโซนร้อนมีกำลังแรงขึ้น จะทวีกำลังเป็น ไต้ฝุ่น ความเร็วลมตั้งแต่ 118 กิโลเมตรขึ้นไป/ชั่วโมง มีตาพายุชัดเจน บริเวณศูนย์กลางของตาพายุจะฟ้าโปร่ง มีฝนปรอยและลมสงบ แต่บริเวณรอบนอกของพายุจะมีความรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหาย เกิดน้ำท่วมฉับพลัน บ้านเรือนปลิวหรือพังถล่มเสียหาย และก่อให้เกิดอันตรายต่อการเดินเรือเป็นอย่างมาก สำหรับบ้านเรา พายุที่เข้าแบบตรงๆมักเป็นดีเปรสชั่น เนื่องจากพายุได้อ่อนกำลังลงก่อนเข้าประเทศไทย ขณะที่พายุโซนร้อนหรือพายุไต้ฝุ่นมักมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยได้น้อยมาก