TNN เปิดรายชื่อ "แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 10 แห่ง" เฝ้าระวังน้ำมาก-น้ำน้อย

TNN

Earth

เปิดรายชื่อ "แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 10 แห่ง" เฝ้าระวังน้ำมาก-น้ำน้อย

เปิดรายชื่อ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 10 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก-น้ำน้อย

กอนช. เปิดรายชื่อ "แหล่งน้ำขนาดใหญ่" เฝ้าระวังน้ำมากและน้ำน้อย 10 แห่ง เพื่อป้องกันผลกระทบ ชี้เอลนีโญมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปีนี้

กอนช. เปิดรายชื่อ "แหล่งน้ำขนาดใหญ่" เฝ้าระวังน้ำมากและน้ำน้อย 10 แห่ง เพื่อป้องกันผลกระทบ ชี้เอลนีโญมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปีนี้


นายธรรมพงศ์ เนาวบุตร ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า 


ปัจจุบันภาพรวมปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศยังคงต่ำกว่าค่าปกติ 19% สำหรับการติดตามปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกมากในบางพื้นที่ โดยมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ปริมาณ 991 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สำหรับปริมาณน้ำทั้งประเทศในปัจจุบัน มีจำนวน 44,028 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 53% ของความจุรวม โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การ 19,921 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 34% 


เปิดรายชื่อ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 10 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก-น้ำน้อย ภาพจาก กอนช.

 


ทั้งนี้ กอนช. ได้ติดตามปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ พบว่า มีแหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำมาก 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนห้วยหลวง ในขณะเดียวกันมีแหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 8 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ บึงบอระเพ็ด เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่มอก เขื่อนปราณบุรี เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนคลองสียัด


กอนช. ได้ติดตามสภาพปัญหาทั้งภัยแล้งและอุทกภัยในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็ว โดยในระยะที่ผ่านมา มีพื้นที่ประสบอุทกภัยใน 5 จังหวัด คือ 


ภาคเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย 

ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ จ.ระยอง 

ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.สตูล และ จ.ระนอง 


ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ในหลายพื้นที่กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว ยกเว้นในบางพื้นที่ของ จ.เชียงราย โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. เพื่อคาดการณ์ปริมาณฝนในระยะนี้ พบว่า ในแต่ละภาคจะมีปริมาณฝนตกไม่มากนัก แต่ในพื้นที่ภาคตะวันออกจะมีฝนตกหนักเป็นระยะที่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนมากในช่วงวันที่ 28-29 ส.ค. 66 


เปิดรายชื่อ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 10 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก-น้ำน้อย ภาพจาก กอนช.

 



โดย กอนช. ได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย 3 วันล่วงหน้า พบพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาน้ำหลากดินถล่มใน 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ จ.จันทบุรี จ.ระยอง และ จ.ตราด ซึ่ง กอนช. จะมีการติดตามข้อมูลรายวันเพื่อนำไปออกประกาศแจ้งเตือน หากมีแนวโน้มจะเกิดผลกระทบต่าง ๆ” นายธรรมพงศ์ กล่าว

 

นายธรรมพงศ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน โดยมีแนวโน้มจะแรงขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ก่อนจะมีกำลังอ่อนลงและจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 67 โดย กอนช. ได้จัดทำมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ จำนวน 3 มาตรการ คือ 


1) จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 

2) ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง 

3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 


โดยหลังจากนี้จะมีการจัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนมาตรการเพิ่มเติมดังกล่าว โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับ 12 มาตรการเดิมอย่างเคร่งครัด เพื่อบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะเอลนีโญให้ผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่นและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด







แฟ้มภาพ ผู้สื่อข่าวนครราชสีมา

ข่าวแนะนำ