แซงหน้าสถิติเดิม! 3 กรกฎาคม 2566 โลก "อากาศร้อนที่สุด" เท่าที่เคยบันทึก
3 กรกฎาคม 2566 ศูนย์พยากรณ์ด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสหรัฐฯระบุเป็นวันที่โลกมี "อากาศร้อนที่สุด" เท่าที่เคยมีการบันทึกสถิติทั่วโลก
3 กรกฎาคม 2566 ศูนย์พยากรณ์ด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสหรัฐฯระบุเป็นวันที่โลกมี "อากาศร้อนที่สุด" เท่าที่เคยมีการบันทึกสถิติทั่วโลก
วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นวันที่โลกมีอากาศร้อนจัดที่สุด เท่าที่เคยมีการบันทึกสถิติทั่วโลก จากการเปิดเผยของศูนย์พยากรณ์ด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสหรัฐฯ
อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงสุด แตะ 17.01 องศาเซลเซียส (62.62 องศาฟาเรนไฮต์) แซงหน้าสถิติเดิมที่ 16.92 องศาเซลเซียส (62.46 องศาฟาเรนไฮต์) ที่ทำไว้เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2016 ในขณะที่กำลังเกิดคลื่นความร้อนถล่มทั่วโลกในขณะนี้
โดยที่สหรัฐฯ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศกำลังทุกข์ทรมานอยู่ใต้ "โดมความร้อน" (heat dome) มานานหลายสัปดาห์แล้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่กักความร้อนไว้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงสุดแตะ 46.6 องศาเซลเซียสเมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคมที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ทำสถิติใหม่เป็นวันที่ร้อนที่สุดของเมืองฟินิกซ์ในปีนี้ สูงกว่าสถิติเดิม 1 องศาเซลเซียส ก่อนหน้านั้น อุณหภูมิในสหรัฐฯ พุ่งสูงสุดที่รัฐเท็กซัส แตะ 48 องศาเซลเซียส
ส่วนที่จีน คลื่นความร้อนที่ยาวนาน ดันอุณหภูมิพุ่งทะลุ 35 องศาเซลเซียส ส่วนอินเดีย อุณหภูมิสูงสุดเกือบถึง 45 องศาเซลเซียสในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โรงพยาบาลทั่วรัฐอุตตระประเทศ ทางเหนือของอินเดีย เต็มล้นไปด้วยผู้ป่วยเนื่องจากอากาศร้อนจัดจากคลื่นความร้อน ส่วนแอฟริกาเหนือ อุณหภูมิสูงสุดแตะ 50 องศาเซลเซียส
แม้กระทั่งในทวีปแอนตาร์กติกา หรือขั้วโลกใต้ ที่ขณะนี้ยังเป็นฤดูหนาว แต่กลับพบอุณหภูมิสูงผิดปกติ โดยล่าสุด ที่ฐานวิจัยเวอร์นัดสกี (Vernadsky) ของยูเครน ที่ตั้งอยู่ที่หมู่เกาะอาร์เจนไตน์ในแอนตาร์กติกา วัดอุณหภูมิสูงสุดได้ 8.7 องศาเซลเซียส ทุบสถิติอุณหภูมิสูงสุดของเดือนกรกฎาคมในแอนตาร์กติกา
ภาพจาก AFP