ปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" คาดลากยาวไปจนถึงปีหน้า ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร?

ปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" คาดจะลากยาวไปจนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร
ปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" คาดจะลากยาวไปจนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร
ปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกของสหประชาชาติ (WMO)ประเมินว่า มีโอกาสร้อยละ 60 ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ขณะที่ร้อยละ 80 ประเมินว่า มีโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวภายในสิ้นเดือนกันยายน
เอลนีโญ ซึ่งถือเป็นรูปแบบสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มักเกี่ยวข้องกับการเกิดสภาพอากาศร้อนเพิ่มขึ้นทั่วโลก ขณะเดียวกันก็เกิดความแห้งแล้งในบางส่วนของโลก และมีบางส่วนเกิดฝนตกหนัก ซึ่งปรากฏการณ์นี้ เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในปี 2561-2562
นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา โลกเผชิญกับปรากฏการณ์ "ลานีญา" ที่ยาวนานเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ตรงข้ามกับ "เอลนีโญ" เพิ่งจะสิ้นสุดลงในช่วงต้นปีนี้
สหประชาชาติ ระบุด้วยว่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่อากาศร้อนที่สุด นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติ แม้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งทำให้อากาศเย็นลงนานเกือบครึ่งหนึ่งของช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้นหากไม่มีปรากฏการณ์ดังกล่าว คาดว่า ภาวะโลกร้อนอาจเลวร้ายมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งหลังสุดนี้ ถือว่าไม่รุนแรง แต่ก่อนหน้านี้ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 2557 และ 2559 ถือว่ารุนแรง และมีผลลัพธ์ที่เลวร้าย
WMO ระบุว่า ในปี 2559 ถือเป็นปีที่รัอนที่สุดตั้งแต่มีการจดบันทึก เนื่องจาก “สองเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน” คือปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรงมาก และภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากฝีมือมนุษย์
ปรากฏการณ์เอลนีโญ เกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 2-7 ปี และโดยปกติมักกินเวลานาน 9-12 เดือน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิเหนือผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันออก อุ่นขึ้น โดยทั่วไปแล้ว จะเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ตอนใต้ของอเมริกาใต้, ตอนใต้ของสหรัฐฯ, จะงอยแอฟริกา และเอเชียกลาง ขณะเดียวกัน ก็จะเกิดความแห้งแล้งรุนแรงในออสเตรเลีย, อินโดนีเซียและหลายพื้นที่ของเอเชียใต้
ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะลากยาวไปจนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ก่อนหน้านี้ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานด้านประเมินสถานการณ์น้ำ ว่า คาดการณ์ว่าปีนี้จะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม
ขณะที่ปรากฎการณ์เอลนีโญจะเริ่มเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนและลากยาวไปถึงเดือนกุมภาพันธถ์ปีหน้า 2567
ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณฝนปีนี้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และจะเกิดฝนจะทิ้งช่วง ตั้งแต่มิถุนายนถึงกรกฎาคม และจะทิ้งช่วงอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน การบริการจัดการน้ำในปีนี้จึงใช้การประเมินค่าของฝนที่น้อยที่สุดมาเป็นเกณฑ์ เพื่อกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุดในช่วงต้นฤดู
ก่อนที่จะเข้าหน้าแล้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน ในส่วนของภาคเกษตรกรรมยืนยันว่าปีนี้เกษตรกรสามารถเพาะทำนาปีได้ตามปกติ แต่หลังจากนั้นอาจจะต้องให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรัง
ปีนี้มีความเป็นไปได้ที่พายุหมุนเขตร้อนจะเข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 1 - 2 ลูก บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน ซึ่งได้มีมาตรการ 12 มาตรการ รองรับ เช่น การปรับปรุงแหล่งน้ำ การเตรียมความพร้อมการระบายน้ำให้พร้อมใช้งาน ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ การตรวจความมั่นคงพนังกั้นน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และการติดตามประเมินผล
ฤดูแล้งปีหน้าอาจจะมีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการทำการเกษตร
ด้านผศ. ณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความคิดเห็นถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของทะเลแปซิฟิก ทำให้ประเทศต่างๆ ได้แก่ อินเดีย เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม ภูมิภาคจีนตอนล่าง จนไปถึงออสเตรเลีย ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้มีภาวะของฝนน้อย ซึ่งแตกต่างกับอเมริกาตอนใต้ ที่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ จะมีปริมาณฝนที่มากกว่าปกติ
ขณะที่ประเทศไทยนั้น หากเทียบกับปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญหนัก ๆ คือปี 2559 มีพายุที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกจำนวน 47 ลูก ในจำนวนนี้มีพายุที่เข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 20 ลูก ซึ่งพายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทยในปีนี้นั้น อาจจะต้องติดตามอีกครั้ง ว่าเป็นพายุที่เข้ามาในลักษณะพาดผ่าน หรือเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง
สำหรับอิทธิพลของเอลนีโญที่เห็นเด่นชัดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าฝนที่ตกลงมา ยังคงมีปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการเก็บกัก
ทั้งนี้ การสังเกตค่าเฉลี่ยฝนในประเทศไทยที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน แต่ยังมีปริมาณที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างเยอะ โดยมีปริมาณน้ำฝนเพียงแค่ร้อยละ 46 ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณฝนในปีที่แล้ว โดยมองว่าหากฝนยังคงตกในลักษณะเช่นนี้ต่อไป ปริมาณน้ำสำหรับฤดูแล้งในปี 2566-2567 ก็อาจจะมีไม่เพียงพอ เพราะต้องคำนึงถึงความสำคัญของการใช้น้ำเป็นอันดับแรก
ซึ่งเกษตรกรในปีนี้จำเป็นที่จะต้องเชื่อฟังภาครัฐ ในการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ที่กำหนด ไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงเกิดความเสียหายต่อพืชผลืางการเกษตร
ภาพจาก reuters