TNN online ไทยเข้าฤดูฝน ประเทศไทยมีโอกาสเจอ “พายุ” แบบไหน-รุนแรงหรือไม่?

TNN ONLINE

Earth

ไทยเข้าฤดูฝน ประเทศไทยมีโอกาสเจอ “พายุ” แบบไหน-รุนแรงหรือไม่?

ไทยเข้าฤดูฝน ประเทศไทยมีโอกาสเจอ “พายุ” แบบไหน-รุนแรงหรือไม่?

ไทยเข้าฤดูฝน ประเทศไทยมีโอกาสเจอ “พายุ” ประเภทใด-มีความรุนแรงหรือไม่? ส่วนมากเกิดขึ้นในเดือนไหน?

วันนี้ ( 23 พ.ค. 66 )จากกรณี ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูร้อนและเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝน วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่า จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับผิวพื้นถึงความสูงประมาณ 3.5 กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไป ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของ ประเทศไทยในปีนี้


หลังจากประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว หลายคนคงตั้งคำถามว่า ประเทศไทย มีโอกาสเจอพายุประเภทใด รุนแรงหรือไม่? โดยข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานสภาพอากาศประจำเดือนมิถุนายน โดยระบุว่า "เดือนนี้ มักจะมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก และเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ ซึ่งจะส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาไว้ด้วย"


ประเทศไทยมีโอกาสเจอพายุแบบไหน?


 พายุที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยส่วนใหญ่มักเป็นพายุหมุนเขตร้อนดีเปรสชัน เนื่องจากพายุได้อ่อนกำลังลงก่อนถึงประเทศไทย ซึ่งมักจะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป แต่เดือนตุลาคมจะเป็นเดือนที่พายุมีโอกาสเคลื่อนตัวเข้ามาได้มากที่สุด


พายุหมุนเขตร้อนคืออะไร-รุนแรงหรือไม่? 


เป็นพายุหมุนที่ก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเส้นศูนย์สูตร (ค่าความกดอากาศต่ำเกิดจากการที่มวลอากาศได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์และยกตัวสูงขึ้น ทำให้ความกดอากาศบริเวณนั้นลดลง) มักเกิดบริเวณผิวน้ำทะเลและมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิของน้ำสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส มีลักษณะเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่เกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดรุนแรง หากยิ่งใกล้จุดศูนย์กลางของพายุ ลมจะหมุนจนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วอยู่ที่ประมาณ 120 – 200 กม./ชม. โดยสามารถแบ่งประเภทของพายุหมุนเขตร้อนได้ตามความแรงของลมพายุ ได้แก่ 


1.พายุไต้ฝุ่น หรือ เฮอริเคน 


- มีความเร็วลมสูงสุดบริเวณศูนย์กลางของพายุ ตั้งแต่ 118 กม./ชม. ขึ้นไป
 - มีระดับความรุนแรงมากที่สุด สามารถทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือน อาจทำให้เสาไฟฟ้าหักโค่น เกิดไฟฟ้าช็อตหรือเพลิงไหม้ได้ 
- เมื่ออยู่ในทะเลจะมีคลื่นลมแรงจัดมาก เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ โดยเฉพาะเรือเล็ก 
- อาจมีคลื่นใหญ่ซัดชายฝั่ง ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมากจนท่วมอาคารบ้านเรือนริมทะเลได้ 
 - มักจะเกิด “ตาพายุ” ขึ้นตรงศูนย์กลางพายุ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำมากที่สุด มีลมสงบ ท้องฟ้าโปร่ง อาจมีเมฆและฝนบ้างเล็กน้อย แต่รอบๆ จะเป็นบริเวณที่มีลมพัดแรงจัด มีเมฆครึ้ม มีฝนตกพายุรุนแรง


2.พายุโซนร้อน 


- เกิดขึ้นเมื่อพายุเฮอริเคนอ่อนกำลังลงขณะเคลื่อนตัวในทะเล และความเร็วที่จุดศูนย์กลางลดลงเมื่อเคลื่อนเข้าหาฝั่ง
- มีความเร็วลมสูงสุดบริเวณศูนย์กลางของพายุ 63 กม./ชม.ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 118 กม./ชม.
- มีกำลังแรงพอที่จะทำลายบ้านเรือนที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรงได้ รวมทั้งทำให้กิ่งไม้หักโค่น และทำให้เกิดน้ำท่วมได้ 
- มีฝนตกอย่างหนักต่อเนื่องตลอดทั้งวันจนอาจทำให้เกิดน้ำป่าและแผ่นดินถล่มได้ 
- พายุระดับนี้อาจเริ่มเห็นเกลียวแขนของกลุ่มเมฆบ้าง


3.พายุดีเปรสชัน 


- เกิดขึ้นจากพายุโซนร้อนที่มีความเร็วลดลง
- มีความเร็วลมสูงสุดบริเวณศูนย์กลางของพายุไม่ถึง 63 กม./ชม. ก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองธรรมดาหรือฝนตกหนัก 
- มีลมกรtโชกแรงเป็นครั้งคราว มีกำลังไม่แรงพอที่จะทำลายบ้านเรือนได้ แต่ถ้ามีฝนตกหนักมากๆ อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้ 
พายุระดับนี้จะเห็นเป็นกลุ่มเมฆหนาทึบ เป็นวงกลม ยังไม่มีแนวขดเป็นเกลียว หรือ ตาพายุ ชัดเจน



ข้อมูลจาก  : กรมอุตุนิยมวิทยา

ภาพจาก :   AFP 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง