TNN online สรุปสภาพอากาศสุดขั้ว ที่เกิดขึ้นรอบโลกปี 2565

TNN ONLINE

Earth

สรุปสภาพอากาศสุดขั้ว ที่เกิดขึ้นรอบโลกปี 2565

สรุปสภาพอากาศสุดขั้ว ที่เกิดขึ้นรอบโลกปี 2565

ตลอดปีนี้ เกิดภัยธรรมชาติมากมายในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น อากาศหนาวจัด, คลื่นความร้อน, ภัยแล้ง, น้ำท่วม และพายุรุนแรง สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาภาวะโลกร้อน พื้นที่ไหนเผชิญอะไรบ้าง และได้รับความเสียหายมากน้อยขนาดไหน มาดูกัน

เดือนมกราคม ทางตอนเหนือของปากีสถาน อากาศหนาวจัดจนทำให้นักท่องเที่ยว 23 คนเสียชีวิตหลังจากติดอยู่ในรถเพราะไม่สามารถเดินทางไปต่อได้ เนื่องจากถนนเต็มไปด้วยกองหิมะ นอกจากนี้การสืบสวนพบว่า ทางการไม่ได้แจ้งเตือนเรื่องของสภาพอากาศที่เลวร้าย ขณะที่อาร์เจนตินาเผชิญคลื่นความร้อนครั้งประวัติศาสตร์ อุณหภูมิพุ่งสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้ประชาชนต่างพากันคลายร้อนด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะออกไปหลบแดดในสวนสาธารณะ หรือเล่นน้ำในทะเล เดือนกุมภาพันธ์ ที่มาดากัสการ์เผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ สาเหตุนั้นส่วนหนึ่งมาจากการตัดไม้ทำลายป่า พื้นที่ที่เคยอุดมสมบูรณ์ของมาดากัสการ์กลายเป็นแห้งแล้ง และเต็มไปด้วยฝุ่น ที่บราซิล ฝนที่ตกลงมาในเมือง Petropolis เพียงวันเดียวเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ แต่กลับเกินค่าเฉลี่ยตลอดทั้งเดือน ทำให้เกิดดินโคลนถล่ม น้ำท่วมบ้านเรือนเสียงหาย รถยนต์และรถโดยสารหลายคันถูกพัดหายไปตามกระแสน้ำ เดือนมีนาคม ภูมิภาคจะงอยแอฟริกาเผชิญกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งที่สุดในรอบกว่า 4 ทศวรรษ หลังจากฝนไม่ตกติดต่อกัน 3 ฤดู ตามรายงานของโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติพบว่า ประชาชนขาดแคลนอาหารอย่างหนัก เดือนเมษายน คลื่นความร้อนรุนแรงปกคลุมปากีสถาน อุณหภูมิพุ่งสูงเกือบ 50 องศาในหลายพื้นที่ นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่ปากีสถานเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวไปสู่ฤดูร้อน โดยไม่มีช่วงเวลาของฤดูใบไม้ผลิ เดือนพฤษภาคม เมืองวาเลนเซียของสเปนเผชิญกับฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ปริมาณฝนทุบสถิติตั้งแต่เคยมีการบันทึกมา ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ กระทบการขนส่งและการเดินทางของประชาชนจำนวนมาก ส่วนที่อินเดียอากาศร้อนจัด หลังจากคลื่นความร้อนเข้าปกคลุม ที่นิวเดลี มีอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสเกือบทุกวัน เดือนมิถุนายน เกิดไฟป่าในหลายพื้นที่ของยุโรป ทั้งที่สเปน กรีซ และฝรั่งเศส มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ขณะที่สหรัฐฯ เกิดไฟป่ารุนแรงเช่นกัน ไฟป่าได้ลุกลามอย่างรวดเร็วทางตะวันตกของอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี ซึ่งลุกลามอย่างรวดเร็วและคาดเดาไม่ได้จนกลายเป็นไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดของปี ทำให้ต้องอพยพผู้คนหลายพันคน เดือนกรกฎาคม คลื่นความร้อนรุนแรงปกคลุมทั่วยุโรป คลื่นความร้อนในปีนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 200 ปี นักวิทยาศาสตร์คาดว่าสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ นอกจากนี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เกิดเหตุธารน้ำแข็งถล่มบนเทือกเขาแอลป์ที่อิตาลี มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 11 คน ส่วนที่ปากีสถาน เกิดฝนตกหนักผิดปกติ ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 549 คนในปากีสถาน โดยชุมชนห่างไกลในจังหวัดบาลูจิสถานทางตะวันตกเฉียงใต้ที่ยากจนที่สุด ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เดือนสิงหาคม ภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายปีของยุโรป ทำให้แม่น้ำดานูบลดต่ำสุดในรอบเกือบศตวรรษ เผยให้เห็นซากเรือรบเยอรมันที่จมลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนที่จีน ระดับน้ำในแม่น้ำแยงซีลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากภัยแล้งและคลื่นความร้อนในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำสาขาของแม่น้ำแยงซีในเขตฉงชิ่ง สามารถพากันเดินไปตามพื้นแม่น้ำที่แห้งขอดได้เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม กรุงโซลของเกาหลีใต้ เกิดฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ ไฟฟ้าดับ ดินถล่ม น้ำท่วมถนนและรถไฟใต้ดิน นับว่าเป็นน้ำท่วมใหญ่ของกรุงโซลในรอบหลายสิบปี เดือนกันยายน ภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 40 ปีของเคนยาได้ทำให้สัตว์ป่าล้มตาย และผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ทำให้วิกฤตความอดอยากรุนแรงยิ่งขึ้น เด็กเกือบสองล้านคนในภูมิภาคจะงอยแอฟริกาต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วนจากภาวะทุพโภชนาการ เดือนตุลาคม ที่เวเนซุเอลา เกิดฝนตกหนักเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน ในรัฐอารากัว ทางตอนกลางของประเทศ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมสูงฉับพลัน และดินถล่ม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 ราย และมีผู้สูญหายอีก 50 กว่าคน เดือนพฤศจิกายน พายุเฮอริเคนนิโคลพัดถล่มพื้นที่ตามแนวชายฝั่งรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ พายุเฮอริเคนนิโคล ยังส่งผลให้เกิดน้ำท่วม บ้านเรือนและร้านค้ากว่า 350,000 หลัง ไม่มีไฟฟ้าใช้ เดือนธันวาคม ประชานในสหรัฐฯ และแคนาดากว่า 1 ล้านคนต้องตกอยู่ในสภาพไม่มีไฟฟ้าใช้ในวันคริสต์มาส หลังจากพายุฤดูหนาวหรือบอมบ์ไซโคลนลูกใหญ่ยังคงถล่มต่อเนื่อง ทำให้เกิดหิมะตกหนัก ลมแรงและอุณหภูมิเยือกแข็ง ประชาชนเกือบ 250 ล้านคนได้รับผลกระทบและมีอย่างน้อย 19 รายเสียชีวิต ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างจากสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นรอบโลกตลอดปีนี้ เกิดความเสียหายและความสูญเสียต่อผู้คนทั่วโลก สาเหตุหลักมาจากผลกระทบเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ที่ทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ รุนแรงขึ้น สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็ปรากฎให้เห็นและรุนแรงกว่าในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนบนโลกนี้ ต้องช่วยกันควบคุมอุณหภูมิโลกของเราไม่ให้สูงไปมากกว่านี้ ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อจะได้ช่วยกันลดผลกระทบและความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ข่าวแนะนำ