TNN online สรุปอากาศปี 65 ป่วนทั่วโลก เหตุ“ลานีญา” พ่นพิษนาน

TNN ONLINE

Earth

สรุปอากาศปี 65 ป่วนทั่วโลก เหตุ“ลานีญา” พ่นพิษนาน

สรุปอากาศปี 65 ป่วนทั่วโลก เหตุ“ลานีญา” พ่นพิษนาน

ในปี 2565 ปรากฏการณ์ “ลานีญา” ยังคงส่งผลกระทบต่อสภาวะอากาศทั่วโลก โดยแต่ละพื้นที่เผชิญกับสภาพอากาศที่แตกต่างกันไป

รายงานล่าสุดจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกชี้ว่า ปรากฏการณ์ลานีญาที่ลากยาวมานานถึง 3 ปีซ้อนนั้น มีแนวโน้มที่จะลากยาวต่อไปได้อีก โดยปรากฏการณ์ “ลานีญา” ที่เกิดขึ้นรอบนี้นั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2563 และทวีกำลังแรงขึ้นในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอิทธิพลต่อสภาวะอากาศทั่วโลกมานานมาก และดูเหมือนยังไม่สิ้นสุด องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกรายงานว่า ในช่วงเดือนธันวาคมต่อเนื่องไปจนถึงกุมภาพันธ์ปีหน้า ยังมีโอกาสที่จะเกิดลานีญาได้อยู่ถึง 75% ส่วนโอกาสที่จะพลิกกลับไปเป็นเอลนิโญนั้นคือ 0% หรือไม่มีเลย และมีโอกาสที่จะอยู่ในสภาวะเป็นกลางประมาณ 25% ปรากฏการณ์ “ลานีญา” คือปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลาง และตะวันออกมีค่าต่ำกว่าปกติ เนื่องมาจากลมค้าตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดอยู่เป็นประจำในแปซิฟิกเขตร้อนทางซีกโลกใต้มีกำลังแรงกว่าปกติ จึงพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกไปสะสมยังแปซิฟิกเขตร้อนตะวันตกมากขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวที่มีอุณหภูมิผิวน้ำทะเล และระดับน้ำทะเลสูงกว่าอยู่แล้วยิ่งสูงขึ้นไปอีกทำให้มีปริมาณฝนมากขึ้น ขณะที่แปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกแห้งแล้งรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน. ปัญหาสภาพอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปีนี้นั้นส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญา และแต่ละพื้นที่ก็เจอปัญหาที่แตกต่างกัน โดยปีนี้พื้นที่ที่เผชิญกับปัญหาภัยแล้งคือ สหรัฐอเมริกา เกิดภัยแล้งหนักในช่วงเดือนก.พ. หลังจากยืดเยื้อมาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจากข้อมูลของระบบติดตามภัยแล้งของสหรัฐระบุว่า ปี 2565 เป็นปีที่สหรัฐฯ ประสบภัยแล้งอย่างยิ่ง โดยในวันที่ 10 ก.พ.65 พื้นที่ทางตะวันตกของสหรัฐ 95% เกิดปัญหาภัยแล้ง และปริมาณในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอเมริกาเหนือ 2 แห่ง อย่างทะเลสาบมี้ดและทะเลสาบพาวเวลล์ ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 100 ปี ยังแนวโน้มสูงที่ปัญหาภัยแล้งในสหรัฐฯจะเกิดขึ้นต่อไปอย่างน้อยสองสามปี ยุโรป เกิดภัยแล้งหนักในช่วงเดือนก.ค.- ส.ค. โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้นทางฝั่งยุโรปในปีนี้ รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 500 ปี เพราะรุนแรงกว่าสถานการณ์ภัยแล้งในยุโรปเมื่อปี 2561 แม่น้ำสำคัญหลายสายในหลายประเทศแห้งขอด ชนิดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงหลายประเทศในยุโรปต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดจากอิทธิพลของคลื่นความร้อน ที่มาเร็วขึ้นและรุนแรงขึ้น แอฟริกาตะวันออก เกิดภัยแล้งหนักตลอดทั้งปี เนื่องจากปริมาณฝนที่ต่ำว่าค่าปกติและไม่ตกต้องตามฤดูกาล โดยเฉพาะบริเวณจะงอยแอฟริกาที่ประกอบด้วย เอธิโอเปีย เคนยา โซมาเลีย และยูกันดา ที่พบว่าแล้งหนักที่สุดในรอบ 40 ปี จนเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร เนื่องจากภัยแล้งส่งผลกระทบให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ปศุสัตว์ที่ประชาชนเลี้ยงไว้พากันล้มตาย ราคาอาหารพุ่งสูง และเกิดการแบ่งแย่งจัดสรรแหล่งน้ำ จีน เกิดภัยแล้งหนักในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. เป็นผลมาจากคลื่นความร้อนที่รุนแรงและยาวนาน และปริมาณฝนที่ตกน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ปีนี้ประเทศจีนเผชิญกับภัยแล้งหนักที่สุดในรอบ 60 ปี แม่น้ำและทะเลสาบสำคัญหลายแห่งแห้งขอดกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงเกิดไฟป่าในหลายพื้นที่ พื้นที่ที่เผชิญกับปัญหาฝนตกหนัก น้ำท่วม แอฟริกาใต้ เกิดน้ำท่วมหนักในช่วงเดือนเม.ย. โดยปีนี้แอฟริกาใต้เผชิญกับฝนตกหนักและน้ำท่วมเป็นผลมาจาก พายุหมุนเขตร้อน 3 ลูก และพายุโซนร้อน 2 ลูก ที่เข้าพัดถล่มภายในระยะเวลาเพียง 6 สัปดาห์ นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 1 ล้านคน นับว่าเป็นภัยน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี อเมริกาใต้ตอนเหนือ เกิดน้ำท่วมหนักในช่วงเดือนพ.ค. เนื่องจากปริมาณฝนที่สูงกว่าค่าปกติ ทำให้หลายประเทศเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมและดินถล่ม โดยเฉพาะที่ประเทศบราซิล อินเดีย-ปากีสถาน เกิดน้ำท่วมหนักในช่วงเดือนส.ค. เนื่องจากฤดูมรสุมปีนี้มีฝนตกหนักกว่าปกติ โดยเฉพาะที่ปากีสถาน ฝนตกหนักครั้งใหญ่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างและส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศกว่า 33 ล้านคน จนรัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤต ออสเตรเลีย เกิดน้ำท่วมหนักในช่วงเดือนก.พ.-ก.ค. หลายพื้นที่ของออสเตรเลีย ปีนี้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติจนทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่หลายครั้งในรอบปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีที่ออสเตรเลียเผชิญกับฝนตกหนักที่สุดในรอบ 1000 ปี และต้องอพยพประชาชนมากถึง 3 แสนกว่าราย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดน้ำท่วมหนักในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. เนื่องจากปีนี้ปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ ทำให้หลายประเทศมีฝนตกถี่ขึ้น และพายุที่ก่อตัวติดต่อกันในช่วงกลางปี ทำให้หลายประเทศเผชิญกับปัญหาฝนตกหนักน้ำท่วมมากกว่าปกติ

ข่าวแนะนำ