งานวิจัยชี้ ภาวะโลกร้อนทำ "ลูกเห็บ" ใหญ่ขึ้น
“งานวิจัยชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบันส่งผลทำให้อนาคตมนุษย์อาจเผชิญกับลูกเห็บที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สินและบ้านเรือนประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์พายุลูกเห็บยักษ์ขนาดเท่าลูกเทนนิสตกที่แคว้นคาตาโลเนียของประเทศสเปน เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่าสิบราย รวมทั้งมีเด็กวัย 2 ปีเสียชีวิต เนื่องจากโดนลูกเห็บยักษ์ตกใส่ ลูกเห็บที่ใหญ่ที่สุดที่วัดได้มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 11 ซ.ม. นับว่าใหญ่ที่สุดในแถบนี้เท่าที่เคยมีการบันทึกมาในรอบ 20 ปี ซึ่งนักวิทยาศาตร์จากหลายมหาวิทยาลัยได้ทำการศึกษาและพบว่านี่เป็นหนึ่งในผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
โดยรายงานที่ตีพิมพ์ลงใน ‘Nature Journal’ ได้ระบุว่าพายุลูกเห็บจะมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความชื้นที่เพิ่มมากขึ้นจากอากาศร้อน โดยลูกเห็บนั้นปกติเกิดจากละอองน้ำและความชื้นที่ลอยอยู่ในอากาศ ระเหยขึ้นไปปะทะกับมวลอากาศเย็นด้านบนของเมฆ และจะจับตัวเป็นก้อนน้ำแข็ง จากนั้นก็จะตกลงมาเจอมวลอากาศร้อนที่อยู่ด้านล่างของเมฆ และความชื้นด้านล่างของเมฆก็จะเข้าไปห่อหุ้มเม็ดน้ำแข็งที่ตกลงมาให้มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นไปอีก หมุนวนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ยิ่งอากาศร้อนความชื้นก็ยิ่งเยอะ ลูกเห็บก็ยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น
จนเมื่อลูกเห็บใหญ่มากๆเกินกว่ากระแสลมจะรับไหวมันก็จะร่วงลงมา
ปกติแล้วลูกเห็บลูกเล็กๆ มักจะละลายก่อนถึงพื้นโลก แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้น การที่ลูกเห็บจะละลายก็ยากขึ้นเช่นกัน และนี่ก็เป็นอีกความอันตรายของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน