TNN online กรมอุตุฯ ตอบชัด ปีนี้จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 จริงหรือไม่?

TNN ONLINE

Earth

กรมอุตุฯ ตอบชัด ปีนี้จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 จริงหรือไม่?

กรมอุตุฯ ตอบชัด ปีนี้จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 จริงหรือไม่?

กรมอุตุนิยมวิทยา ตอบแล้ว ปี 2565 จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 จริงหรือไม่ พร้อมเปรียบเทียบกันปริมาณฝนปี 2565 น้อยกว่าปี 2554 ขณะที่ปี 2554 มีพายุเข้าไทย 5 ลูก แต่ปีนี้ยังไม่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย

กรมอุตุนิยมวิทยา ตอบแล้ว ปี 2565 จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 จริงหรือไม่ พร้อมเปรียบเทียบกันปริมาณฝนปี 2565 น้อยกว่าปี 2554 ขณะที่ปี 2554 มีพายุเข้าไทย 5 ลูก แต่ปีนี้ยังไม่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย

วันนี้ (2 ก.ย.65) น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศ การประมวลผลจากแบบจำลอง และสถิติการเกิดพายุ คาดการณ์ว่าฤดูฝนปี 2565 จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 2 ลูก ในเดือนกันยายนถึงตุลาคม โดยในเดือนกันยายน ประเทศไทยยังมีฝนตกชุก แต่เดือนตุลาคม จะมีมวลอากาศเย็นจากจีนแผ่ลงมาทำให้ปริมาณฝนลดลง

ในปี 2565 ปรากฏการณ์เอนโซ่อยู่ในสภาวะลานีญา ซึ่งทำให้ฝนมากกว่าค่าปกติ โดยจะยังคงต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี คาดการณ์ว่าปริมาณฝนเฉลี่ยตลอดปี 65 จะมากกว่าค่าปกติ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 30 ปี ประมาณ 5-10% ใกล้เคียงกับปี 2564 ที่ฝนมากกว่าค่าปกติ 8% แต่ปี 2554 ซึ่งเกิดอุทกภัยใหญ่ ปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ 27% 

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกันปริมาณฝนปี 2565 น้อยกว่าปี 2554 โดยตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 1 กันยายน 65 ฝนมากกว่าค่าปกติ 23% เมื่อพิจารณาถึงพายุที่มีอิทธิพลให้เกิดฝนตกชุกในประเทศไทยปี 2554 มี 5 ลูก โดยที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมี 1 ลูกคือ "พายุนกเตน"

ส่วนปี 2565 จนถึงขณะนี้ยังไม่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย มีที่เคลื่อนเข้ามาใกล้ 2 ลูกคือ "มู่หลาน" และ "หมาอ๊อน"

“สภาพอากาศในปีนี้มีความแตกต่างกัน ในปี 2554 ปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 27 เกิดพายุหมุนเขตร้อนที่ส่งผลทางอ้อมต่อลมฟ้าอากาศในประเทศไทย ประกอบกับครึ่งหลังของเดือนตุลาคมเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง จึงทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงและต่อเนื่อง แต่สำหรับปีนี้ปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 21 เท่านั้น" อธิบดีกรมอุตุฯ อธิบาย

สำหรับ ปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ไม่ได้มาจากสภาพอากาศอย่างเดียว แต่รวมถึงการบริหารจัดการน้ำด้วย ปัจจุบันหน่วยงานด้านอากาศและน้ำบูรณาการทำงานในกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) โดยนำผลคาดการณ์สภาพอากาศไปวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ โดยมีการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนออกสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้น้ำเหนือไหลลงมาสู่พื้นที่ตอนล่างเป็นปริมาณมากในคราวเดียว 

ขณะที่ พายุ “หินหนามหน่อ” และคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงปลายฤดู 2565 ว่าพายุนี้ไม่มีทิศทางเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะดึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้นได้ ทำให้ในช่วงสัปดาห์หน้า (5-8 ก.ย. ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนล่าง จะมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่

จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล และอย่าเชื่อข่าวปลอมที่ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ให้ติดตามข่าวสารของหน่วยงานราชการ โดยสามารถติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือ โทร. 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.


ข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา

ภาพจาก แฟ้มภาพน้ำท่วมปี 2554 โดย AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง