TNN online เกณฑ์คุณภาพอากาศใหม่จาก WHO จุดท้าทายของทั่วโลก

TNN ONLINE

Earth

เกณฑ์คุณภาพอากาศใหม่จาก WHO จุดท้าทายของทั่วโลก

เกณฑ์คุณภาพอากาศใหม่จาก WHO จุดท้าทายของทั่วโลก

หลังจาก WHO ประกาศปรับเกณฑ์คุณภาพอากาศใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดในโลกที่ประกาศใช้ค่ามาตรฐาน PM2.5 เท่ากับเกณฑ์แนะนำของ WHO แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ประสบปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่าแนะนำของ WHO เช่นกัน

ปัญหาคุณภาพทางอากาศกำลังกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งการวัดคุณภาพอากาศนั้นจะวัดค่าจากค่า PM 2.5 เป็นหลัก สำหรับค่า PM 2.5 นั้นคือ ค่าความเข้มข้นของการปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศ มีหน่วยเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งฝุ่น PM 2.5 เกิดได้จากหลากหลายทางทั้งกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ การก่อสร้าง ยานพาหนะ การผลิตไฟฟ้าหรือ การเผาในที่โล่งเป็นต้น เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลกได้ปรับเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการปรับเกณฑ์ครั้งแรกในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปรับครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยค่ามาตรฐานของค่า PM2.5 แบบเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่องค์การอนามัยโลกแนะนำนั้นถูกปรับให้อยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนค่าเฉลี่ยรายปีถูกปรับให้อยู่ที่ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งการปรับครั้งนี้ทำให้เกณฑ์ค่ามาตรฐานของหลายประเทศตามหลังเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลกอยู่หลายเท่าตัว รวมถึงประเทศไทยด้วย ยกตัวอย่างเช่นที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นกำหนด ค่าเฉลี่ย24 ชั่วโมงอยู่ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนประเทศไทยนั้นกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนรายปีอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใกล้เคียงกับเกาหลีใต้ ส่วนประเทศอินเดียกำหนดให้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนรายปีอยู่ที่ 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งค่ามาตรฐานนั้นห่างจากเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลกมากทีเดียว ถึงแม้ในปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนในโลกที่ประกาศใช้ค่ามาตรฐานของ PM 2.5 เท่ากับเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลก แต่การปรับเกณฑ์ใหม่ในครั้งนี้ก็ยิ่งตอกย้ำว่าทุกประเทศต้องเร่งแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง

ข่าวแนะนำ