TNN online เปิดคำพิพากษา(ฉบับย่อ)”โอ๊ค”รอดคุก! ไร้เจตนารับรู้เงินดำ

TNN ONLINE

อาชญากรรม

เปิดคำพิพากษา(ฉบับย่อ)”โอ๊ค”รอดคุก! ไร้เจตนารับรู้เงินดำ

เปิดคำพิพากษา(ฉบับย่อ)”โอ๊ค”รอดคุก! ไร้เจตนารับรู้เงินดำ

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง”โอ๊ค พานทองแท้” ไม่ผิดฟอกเงินทุจริตกู้กรุงไทย ศาลชี้ เงินโอนเข้าบัญชีไร้เจตนารับรู้เงินดำ ขาดเจตนาตาม กม. ขณะที่คดีนี้ ยังมีความเห็นแย้ง ติดในสำนวนเห็นควรจำคุก 4 ปี

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี เวลา 10.00 น. ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีฟอกเงินทุจริตการปล่อยสินเชื่อของ ธ.กรุงไทยฯ ให้ธุรกิจเครือกฤดามหานคร คดีหมายเลขดำ อท.245/2561 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายพานทองแท้ หรือ โอ๊ค ชินวัตร อายุ 41 ปี บุตรชายคนโตของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 , 9 , 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 91

 

โดยคดีนี้ อัยการ ยื่นฟ้อง นายพานทองแท้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.61บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.47 หลังจากนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร กับพวกร่วมกันกระทำผิดกับอดีตผู้บริหาร ธ.กรุงไทยฯ ในการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ ทำให้ธนาคารเสียหายจำนวน 10,400,000,000 (หนึ่งหมื่นสี่ร้อยล้านบาท) แล้วนายวิชัย กับพวกร่วมกันฟอกเงินที่ได้จากการกระทำผิด โดยนายวิชัย ได้นำบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ที่มีนายรัชฎา บุตรชาย , นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา เป็นกรรมการฯ บริษัทแกรนด์แซทเทิลไลท์คอมมูนิเคชั่น จำกัด ที่มีนายเชื้อ ช่อสลิด เป็นกรรมการฯ มาใช้ในการรับโอนเงิน แล้วนำเงินนั้นไปซื้อขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นการเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน

โดยนายวิชัย ได้โอนเงินจากการขายหุ้นนั้น ให้นายพานทองแท้ จำเลย จำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายรัชฎา บุตรของนายวิชัย และบุคคลในครอบครัวทั้งสองมีความรู้จักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยนายวิชัย สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 17 พ.ค.47 จากบัญชีกระแสรายวัน ธ.ไทยธนาคาร สาขาบางพลัด ระบุชื่อนายพานทองแท้

 

ต่อมาวันที่ 18 พ.ค.47 จำเลยได้นำเช็คนั้นเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธ.กรุงเทพ สาขาบางพลัดของจำเลย และวันที่ 24 พ.ค.47 จำเลยได้ถอนเงิน 10 ล้านบาทเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ของจำเลยอีกอัน จากนั้นระหว่างวันที่ 24 พ.ค.-26 พ.ย.47 จำเลยได้ถอนเงินออกจากบัญชีผ่าน ATM ครั้งละ 5,000 - 20,000 บาทรวม 11 ครั้ง และช่วงในวันที่ 14 มิ.ย.47 มีเงินฝากเข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ของจำเลย 80,000 บาท แล้ววันที่ 30 พ.ย.47 จำเลยได้ถอนเงิน 8,800,000 บาทจากบัญชีดังกล่าว เข้าฝากบัญชีกระแสรายวัน ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ ซึ่งมียอดเงินรวมในบัญชี 14,720,352.07 บาท

 

ต่อมาวันที่ 2 ธ.ค.47 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 14,700,000 บาทจากบัญชีกระแสรายวัน ธ.กรุงเทพสาขาซอยอารีย์ โดยนายวิชัย (ปัจจุบัน อายุ 80 ปี) , นายรัชฎา (ปัจจุบัน อายุ 53 ปี) กับพวก และอดีตผู้บริหาร ธ.กรุงไทยฯ (รวม 18 คน) ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกคดีร่วมทุจริตการอนุมัติสินเชื่อ คนละตั้งแต่ 12-18 ปี เมื่อวันที่ 26 ส.ค.58 และอัยการยังได้ยื่นฟ้องนายวิชัย , นายรัชฎา กับพวก อีกรวม 6 คนต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 4 ก.ย.61 ในคดีหมายเลขดำ อท.214/2561 ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินด้วย (คดีอยู่ระหว่างไต่สวนพยาน)

 

ซึ่งชั้นพิจารณาในศาลอาญาคดีทุจริตฯ นายพานทองแท้ จำเลย ก็ให้การปฏิเสธสู้คดีว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง เงินดังกล่าวเป็นส่วนที่จะร่วมลงทุนธุรกิจนำเข้ารถซุปเปอร์คาร์ กับนายรัชฎา บุตรชายของนายวิชัย อดีตผู้บริหารกฤษดามหานคร ขณะที่ นายพานทองแท้ ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี 1 ล้านบาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

 

หลังองค์คณะศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิเคราะห์พยานโจทก์และจำเลยนำสืบหักล้างในชั้นไต่สวนพยานแล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่

 

ซึ่งจำเลยได้ต่อสู้คดีว่า หลังจากการกู้สินเชื่อ ธ.กรุงไทยแล้ว นายวิชัย ได้นำเงินดังกล่าวไปซื้อหุ้นและดำเนินการต่างๆ ซึ่งถือเป็นการฟอกเงินจนเป็นเงินบริสุทธิ์แล้ว โดยเงิน 10 ล้านบาทที่ นายวิชัย โอนเข้าบัญชีจำเลยนั้น เป็นส่วนที่นายรัชฎา บุตรชายของนายวิชัย จะร่วมลงทุนกับจำเลยในการดำเนินธุรกิจนำเข้ารถหรูนั้น ศาลเห็นว่า เงินดังกล่าวเป็นส่วนที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (4) ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกง หรือกระทำการโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ฯ ไม่ว่าเงินนั้นจะผ่านกระบวนการแปรสภาพทรัพย์สินมากี่ครั้งกี่หน ก็ยังคงเป็นเงินที่กระทำผิดฐานฟอกเงินตลอดไป ไม่ใช่เงินบริสุทธิ์ตามที่จำเลยอ้าง ข้อต่อสู้ของจำเลยนี้จึงไม่มีน้ำหนัก

ส่วนจำเลย กระทำผิดฐานรับโอนเงินที่ได้จากการกระทำผิดมูลฐานหรือไม่นั้น ตามกฎหมาย ต้องได้ความชัดเจนว่า ผู้ที่รับโอนเงินมานั้นจะต้องรับทราบว่าเงินดังกล่าว เป็นเงินส่วนหนึ่งหรือได้มาจากการกระทำความผิดนั้น

 

ซึ่งคดีนี้ข้อเท็จจริงก็ปรากฏตามทางนำสืบในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวของจำเลยกับครอบครัวของนายวิชัย เพียงว่า จำเลยเป็นบุตรของนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งขณะที่ นายวิชัย ได้ทำการกู้สินเชื่อกับธนาคาร และได้รับอนุมัติโดยจำเลยมีความสนิทสนมกับนายรัชฎา บุตรชายของนายวิชัย เพียงเท่านั้น ซึ่งในการโอนเงิน 10 ล้านบาทเข้าบัญชีจำเลยอาจจะเกิดจากการอนุมัติสินเชื่อธนาคารกรุงไทย 10,400,000,000 บาท ขณะที่บิดาของจำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยในการดำเนินคดีกับนายวิชัยนั้น เจ้าหน้าที่ก็ระบุว่า นายวิชัย จะผิดหรือไม่ ก็ต้องรอผลคำพิพากษา ซึ่งกรณีของนายวิชัย ที่ถูกกล่าวหาร่วมทุจริตการกู้สินเชื่อธนาคารกรุงไทยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ได้มีคำพิพากษาในภายหลัง (ปี 2558) จากที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ขณะนั้นอายุ 26 ปี ซึ่งเวลานั้นจำเลยเพิ่งจบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง จำเลยจึงย่อมไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเงินดังกล่าวได้มาจากการกระทำผิด

 

โดยจำเลยเองเวลานั้นก็มีทรัพย์เป็นหุ้นในบริษัทจำนวน 4,000 ล้านบาทอยู่ก่อนแล้ว หากเทียบสัดส่วนเงิน 10 ล้านบาทที่โอนเข้าบัญชีกับมูลค่าหุ้นที่มีอยู่ ก็คิดเป็น 0.0025% และเมื่อเทียบกับจำนวนยอดเงินกู้สินเชื่อที่นายวิชัย ได้ไปนั้นก็เพียง 0.001% เท่านั้น ซึ่งมีจำนวนน้อย และที่โจทก์เห็นว่า แม้พยานจะไม่ชัดเจนว่าจำเลยรับรู้ว่าเงินนั้นได้มาจากการกระทำผิดหรือไม่ ก็ต้องฟังประกอบกับพยานแวดล้อม พร้อมอ้างแนวคำพิพากษาฎีกาการฟอกเงินคดียาเสพติดนั้นระหว่างสามี-ภรรยา ที่สามีกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและตัดสินว่าภรรยาที่อยู่กินร่วมกันฉันท์สามีภรรยาย่อมรับรู้ว่าเงินนั้นมาจากการกระทำผิดด้วยนั้น

โดยเป็นแนวทางที่นักวิชาการอิสระเองก็เห็นด้วย ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวถือว่ามีความแตกต่างกับคดีนี้เป็นอย่างมาก จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้

 

นอกจากนี้ตามทางนำสืบยังพบว่า ในการทำธุรกรรมทางการเงินของจำเลยผ่านบัญชีต่างๆ ก็ยังเป็นการโอนและถอนลักษณะปกติ มีเงินหมุนเวียนในบัญชีประมาณ 7 เดือน ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถตรวจสอบได้ ไม่มีข้อที่ปกปิดในลักษณะเปิดเผยไม่ได้หรือเป็นลักษณะซุกซ่อน ปกปิดแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งหากเห็นการทำธุรกรรมมีข้อสงสัยว่าเป็นการกระทำผิดหรือไม่ ทางธนาคารก็สามารถที่จะตรวจสอบธุรกรรมได้

 

พฤติการณ์ของจำเลย จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยรู้หรือควรรู้ว่านายวิชัย ได้เงินจากการทุจริต เมื่อจำเลยไม่รู้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฟอกเงิน พิพากษายกฟ้อง

 

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้ว องค์คณะฯ ได้ชี้แจงให้คู่ความรับทราบด้วยว่า คดีนี้องค์คณะผู้พิพากษา (มี 2 คน) มีความเห็นต่างกันในการตัดสิน จึงได้นำความเห็นของคณะที่มีผลร้ายน้อยที่สุดกับจำเลยมาเป็นคำตัดสิน ขณะที่ความเห็นขององค์คณะอีกคนหนึ่งนั้นเห็นแย้งว่าจำเลยมีความผิดเห็นควรให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ซึ่งก็จะมีการบันทึกไว้เป็นความเห็นแย้งท้ายคำพิพากษาด้วย หากคู่ความยื่นอุทธรณ์ความเห็นแย้งนี้ในสำนวนก็จะขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ทราบเช่นกัน

 

สำหรับความเห็นแย้งนั้น ระบุว่า **คดีนี้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยมีความเห็นแย้งกันเป็น 2 ฝ่าย หาเสียงข้างมากไม่ได้ จึงให้ผู้พิพากษาที่มีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 5(1)(2) , 60 ลงโทษจำคุก 4 ปี ยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า คือยกฟ้อง**


เกาะติดข่าวที่นี่ 
website: www.TNNThailand.com  
facebook : TNNThailand 
twitter : @TNNThailand 
Line : @TNNThailand 
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวที่เกี่ยวข้อง