TNN online ด่วน! สธ.ยืนยันไทยพบผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" รายแรก เดินทางมาจากสเปน

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ด่วน! สธ.ยืนยันไทยพบผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" รายแรก เดินทางมาจากสเปน

ด่วน! สธ.ยืนยันไทยพบผู้ติดเชื้อ โอไมครอน รายแรก เดินทางมาจากสเปน

สธ.ยืนยันพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ "โอไมครอน" 1 ราย เป็นผู้ป่วยชาวอเมริกัน เดินทางมาจากสเปน

วันนี้( 6 ธ.ค.64)  ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุถึงสถานการณ์และความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์ โอไมครอน ว่า ได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างเชื้อผู้ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย โดยกรณี ชายอายุ 35 ปี สัญชาติอเมริกาเดินทางมาจากสเปนเข้าไทยในรูปแบบ เทสแอนด์โก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ได้ทำการเก็บตัวอย่างเชื้อ พบผลบวก 

จากนั้นได้เก็บตัวอย่างเชื้อเพิ่มเติมเพื่อหาสายพันธุ์ พบตำแหน่งกลายพันธุ์สอดคล้องกับตำแหน่งที่พบใน โอไมครอน ซึ่งการเก็บตัวอย่างเชื้อครั้งแรกยังอยู่ในช่วงที่เชื้อน้อยอยู่ ไม่สมบูรณ์ จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างเชื้ออีกรอบในวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าเป็นเชื้อและโอกาสสูงที่จะเป็น โอไมครอน

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลการทดสอบตัวอย่างครั้งที่ 1 วันที่ 30 พฤศจิกายน พบความเข้ากันได้กับจีโนมของ โอไมครอน ร้อยละ 99.92 เพื่อเป็นการยืนยันรอบที่ 2 อย่างชัดเจน  ซึ่งได้เก็บไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมเพื่อให้ได้ข้อมูลจีโนมที่สมบูรณ์ โดยดำเนินการร่วมกับเครือข่าย ได้แก่ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์และศูนย์ความร่วมมือไทยสหรัฐด้านสาธารณสุขในการร่วมยืนยันผลในครั้งนี้ด้วย 

ปัจจุบัน ภาพรวมสายพันธุ์โควิดที่พบในประเทศไทย ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้าร้อยละ 99.87 โดยในช่วงเปิดประเทศได้มีการเฝ้าระวังนักเดินทางที่เข้ามายังในประเทศไท ยจากการสุ่มตัวอย่างตรวจเชื้อ พบว่ายังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า 

การตรวจหาสายพันธุ์ จะเป็นการสุ่มตรวจในกลุ่มที่คาดว่าจะเจอสายพันธุ์ใหม่ เช่นการเกิดคลัสเตอร์ โดยไม่รู้สาเหตุ บริเวณชายแดน หรือการเดินเข้ามายังต่างประเทศ 

ทั้งนี้ การตรวจหาสายพันธุ์ มีอยู่ 3 ระดับ เร็วที่สุดคือตรวจ RT-PCR แต่เป็นการตรวจหาตำแหน่งยีนส์เฉพาะ ใช้ระยะเวลา 1-2 วัน จากนั้นหากมีการสงสัยว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่จะต้องมีการพิสูจน์ให้แน่ชัดหรือดูรหัสพันธุกรรมของไวรัสบางส่วน หรือ ทำด้วยวิธีโฮจีโนมการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวของไวรัส จะใช้ระยะเวลา 5-7 วัน หากจะเร่งตรวจสอบให้แน่ชัดก็จะมีการเร่งระยะเวลาให้เร็วขึ้น 

อย่างไรก็ตาม โอไมครอน เป็นการกลายพันธุ์หลากหลายตำแหน่งเป็นลูกผสมบางส่วนเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในสายพันธุ์อัลฟา, เบตา 

ทั้งนี้ หากการตรวจหาสายพันธุ์ แล้วพบทั้ง อัลฟา เดลต้า ก็ให้สงสัยว่าอาจจะเป็น โอไมครอน แต่เพื่อให้มีความชัดเจนก็ต้องมีความจำเป็นตรวจเพิ่มเติม 

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน-  4 ธันวาคมจากการสุ่มจำนวนตัวอย่าง และผลตรวจหาสายพันธุ์ผู้เดินทางเข้าไทย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลต้า 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ย้ำ ประชาชนยังคงมาตรการสาธารณสุขตลอดเวลาและอย่ากังวลกับสายพันธุ์ โอไมครอน จนเกินไป เนื่องจากขณะนี้การแพร่ระบาดที่อยู่รอบตัวเราเป็นสายพันธุ์ เดลต้า และคาดว่าหากมีการระบาดของสายพันธุ์ โอไมครอนก็จะใช้ระยะเวลาอีกสักระยะ 

ขณะที่นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า จากกระแสข่าวที่มีการสงสัย 2 กรณี รายแรกหญิงแอฟริกาที่พบติดเชื้ออยู่ที่สถาบันบําราศนราดูร เบื้องต้นไม่ได้เป็นสายพันธุ์โอไมครอน และอีกกรณี รายที่ยืนยันรายแรกว่าเป็นสายพันธุ์ โอไมครอน เป็นชายอายุ 35 ปี สัญชาติอเมริกาอาศัยอยู่ในสเปน 1 ปี เป็นนักธุรกิจไม่มีอาการ เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 29 พฤศจิกายน โดยในวันที่ 28 พฤศจิกายนได้มีการตรวจเชื้อก่อนทางเข้าไทยและไม่พบเชื้อ ขณะถึงประเทศไทยได้มีการตรวจเชื้ออีกครั้ง พบเชื้อวันที่ 1 ธันวาคม โดยได้มีการส่งเคสยืนยันที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขณะนี้อาการผู้ป่วยน้อยมากไม่มีประวัติโรคประจำตัวและไม่มีการตรวจพบเชื้อโควิดมาก่อนเดินทางเข้าไทย 

จากการสอบสวนโรคเบื้องต้น รายนี้ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมี แต่ผู้สัมผัสเสียงต่ำระหว่างนั่งเครื่องบินใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ระหว่างอยู่บนเครื่องบินในแถวที่นั่งชายคนนี้ได้นั่งคนเดียว

สำหรับเชื้อโควิคกลายพันธุ์ โอไมครอน พบว่าแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา 2 ถึง 5 เท่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยคล้ายโรคไข้หวัด โดยผู้ติดเชื้อที่รายงานในต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และ ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโอไมครอนเสียชีวิต 

สำหรับประเทศไทยได้มีการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมยกระดับการเฝ้าระวังช่องทางเข้าออกประเทศและสถานที่ท่องเที่ยว ทำการสุ่มตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยไข้หวัดที่เป็นคลัสเตอร์ส่งตัวอย่างเชื้อที่พบจากผู้เดินทางหรือรายที่น่าสงสัยตรวจหาสายพันธุ์โอไมครอน ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทันที

จากการติดตามโอไมครอนทั่วโลกองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ยังไม่มีการรายงานผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์โอไมครอนแม้แต่รายเดียว ตรงกับหลายหน่วยงานที่ให้ข้อมูล ถึงความรุนแรงของสายพันธุ์โอไมครอนจะน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าค่อนข้างมาก 

ทั้งนี้ ต้นตอของโอไมครอนมาจากประเทศแอฟริกาใต้ ประมาณปลายตุลาคม ต้นพฤศจิกายน สังเกตเห็นว่า จำนวนผู้ป่วยมีจำนวนที่พุ่งสูงขึ้น แล้วไปดูรหัสพันธุกรรมและพบว่าการมีการกลายพันธุ์ของไวรัส แล้วก็ได้มีการรายงานไปที่องค์การอนามัยโลกนั้น โดยพบผู้ติดเชื้อ 46 ประเทศ ติดเชื้อใน 15 ประเทศ พบในผู้เดินทาง 31 ประเทศ การแพร่ระบาด แบ่งเป็น 2 ส่วน เป็นการติดเชื้อในประเทศและเป็นการติดเชื้อมาจากผู้เดินทาง

ส่วนความกังวลในการติดเชื้อสายพันธุ์ โอไมครอน อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ยังคงเป็นการติดเชื้อผ่านละอองฝอยน้ำลายเป็นหลัก ยังไม่มีข้อมูลว่าเป็นการติดเชื้อผ่านทางอากาศ








ภาพจาก Reuters

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง