TNN online โอไมครอนระบาดกว่า 30 ประเทศ ผลวิจัยพบ เคยป่วยโควิดแล้วติดโอไมครอนซ้ำได้

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

โอไมครอนระบาดกว่า 30 ประเทศ ผลวิจัยพบ เคยป่วยโควิดแล้วติดโอไมครอนซ้ำได้

โอไมครอนระบาดกว่า 30 ประเทศ ผลวิจัยพบ เคยป่วยโควิดแล้วติดโอไมครอนซ้ำได้

โควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" ระบาดไปแล้วอย่างน้อย 32 ประเทศ ด้าน แอฟริกาใต้ เผยผลศึกษาล่าสุดพบ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว ไม่ช่วยป้องกันโอไมครอน และสามารถติดเชื้อโอไมครอนซ้ำได้

วันนี้ (3 ธ.ค.64) เว็บข่าว Evening Standard รายงานว่า เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" (Omicron) ได้เริ่มกระจายไปทั่วโลก พบแล้วในอย่างน้อย 30 ประเทศทั่วโลก

ด้าน เว็บข่าว Mint รวบรวมรายชื่อ 30 ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนแล้วใน 5 ทวีป และล่าสุดพบเพิ่มอีก 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์ และฟินแลนด์ รวมทั้งหมด 32 ประเทศ ดังนี้

- ทวีปแอฟริกา พบโอไมครอนแล้วในแอฟริกาใต้ ประเทศต้นตอเชื้อโอไมครอนอย่างเป็นทางการ บอตสวานา กานา และไนจีเรีย

- ทวีปยุโรป มีเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ออสเตรีย สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สเปน นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส เกาะรียูเนียนของฝรั่งเศส และฟินแลนด์เป็นประเทศล่าสุด

- ทวีปอเมริกา พบในแคนาดา สหรัฐฯ และบราซิล ในเอเชีย พบในฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และสิงคโปร์ เป็น 2 ประเทศล่าสุดในเอเชีย

- ประเทศในตะวันออกกลาง พบในอิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE

- ทวีปออสเตรเลีย พบในออสเตรเลีย

ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาวิจัยล่าสุดในแอฟริกาใต้ โดยคณะนักวิจัยจากสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติของแอฟริกาใต้ หรือ NICD พบว่า โอไมครอนมีความสามารถมากพอ ที่จะหลบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน และทำให้คนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้วและเกิดภูมิต้านทานแล้ว สามารถติดเชื้อโอไมครอนซ้ำได้อีก

ผลการศึกษาใหม่ล่าสุดนี้ ประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อโอไมครอนซ้ำ ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1-27 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่โอไมครอนเริ่มกระจายเชื้อ พบว่า ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโอไมครอนซ้ำ สูงกว่า 2.39 เท่าของคลื่นการระบาดครั้งแรกของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2020 

การศึกษาดังกล่าว พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโอไมครอนซ้ำ 35,670 คน จากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดเกือบ 2.8 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการติดเชื้อซ้ำร้อยละ 1.2 

คณะนักวิจัยจึงสรุปผลการศึกษาว่า โอไมครอนมีความสามารถหลบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิด-19 ครั้งก่อน และอาจก่อให้เกิดคลื่นการระบาดในคนที่เคยมีภูมิต้านทานโควิดมาก่อน ซึ่งตรงข้ามกับเชื้อกลายพันธุ์ “เบต้า” และ “เดลต้า” ที่ผลการศึกษาไม่พบหลักฐานว่า เบต้าและเดลต้าสามารถหลบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อโควิดได้

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้ ไม่ได้สรุปว่า โอไมครอนสามารถหลบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนต้านโควิดได้หรือไม่.


ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง