TNN online "โอไมครอน" เสี่ยงระบาดทั่วโลก จะป้องกันภาวะคุกคามต้องมีมาตรการเหล่านี้

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

"โอไมครอน" เสี่ยงระบาดทั่วโลก จะป้องกันภาวะคุกคามต้องมีมาตรการเหล่านี้

โอไมครอน เสี่ยงระบาดทั่วโลก จะป้องกันภาวะคุกคามต้องมีมาตรการเหล่านี้

"หมอธีระ" ชี้ โควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" เสี่ยงสูงจะระบาดทั่วโลก หากจะป้องกันภาวะคุกคาม ต้องมีมาตรการเหล่านี้

วันนี้ (2ธ.ค.64) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า  2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เรามักจะได้เห็น และเรียนรู้ถึงช่องโหว่ของนโยบายและมาตรการ เวลาที่เจอปัญหาวิกฤติคุกคามใหม่เกิดขึ้นมาเสมอ ไม่ว่าจะตั้งแต่ระลอกแรก ระลอกสอง ระลอกสาม จนมาถึงโอไมครอนครั้งนี้

ระลอกแรก สัมพันธ์กับปัญหาช่วงเวลาในการตัดสินใจปิดกั้นการเดินทางจากต่างประเทศ รวมถึงความพร้อมของระบบ ทั้งในเรื่องการตรวจ การติดตาม และการดูแลรักษา แต่โชคดีที่มีกระบวนการผลักดัน ชี้นำนโยบาย และตัดสินใจดำเนินการล็อคดาวน์ได้ทันเวลา จึงคุมได้ในเวลาไม่นาน

ระลอกสอง สัมพันธ์กับปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และทิศทางการควบคุมป้องกันโรคที่ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ ทำให้เกิดผลลัพธ์คือการติดเชื้อใหม่อย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสปะทุซ้ำเป็นระยะ

ระลอกสาม สัมพันธ์กับปัญหาสายพันธุ์ใหม่ทั้งอัลฟ่าและเดลต้าที่มีประสิทธิภาพในการแพร่กระจายไวขึ้นกว่าเดิม ป่วยและตายมากขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการวางแผนและดำเนินนโยบายด้านวัคซีน ดังที่ทราบกัน จนเห็นผลลัพธ์ในช่วงที่ผ่านมา และทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมด้วยช่วยกันในการจัดหาวัคซีนทางเลือกต่างๆ เข้ามาหลากหลายช่องทางจนถึงปัจจุบัน

และในปัจจุบันที่โลกกำลังเจอโอไมครอน ที่เป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่ได้รับการประเมินจากองค์การอนามัยโลกว่าเป็นความเสี่ยงสูงที่จะระบาดทั่วโลก

การจะควบคุมป้องกันภาวะคุกคามนี้และภาวะคุกคามในอนาคตได้นั้น ต้องมีความแข็งแกร่งและมั่นคงในนโยบายและมาตรการป้องกันด้านต่างๆ ต่อไปนี้

หนึ่ง ระบบการตรวจคัดกรองโรคสำหรับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะทางบก น้ำ หรืออากาศ จำเป็นต้องเข้มงวด ไม่หลงต่อกิเลสที่จะโกยเงินจากการท่องเที่ยวจนยอมแลกกับความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของทุกคนในสังคม

การตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR จำเป็นต้องทำ โดยมีระบบบริการที่มีศักยภาพที่จะตรวจได้จำนวนมากและต่อเนื่อง ทั้งสำหรับคนเดินทางเข้ามา และสำหรับรองรับในกรณีมีการระบาดในประเทศ

สอง ระบบการกักตัว 14 วัน โดยตรวจ RT-PCR อย่างน้อยสองครั้งในสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สอง

สาม ระบบการติดตามคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลังเปิดประเทศ คนเดินทางเข้ามาด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ความเสี่ยงย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว 

หากเข้ามาแล้ว ติดตามไม่ได้เวลาเกิดเหตุจำเป็น แต่ละคนไปไหนมาไหนมาบ้าง ตอนนี้อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ กว่าจะเจออีกทีก็ตอนครบกำหนดวีซ่าและจะเดินทางกลับ ลักษณะเช่นนั้นก็เหมือนไฟป่าจะดับได้ยาก หาต้นตอสาเหตุก็ลำบาก

ดังที่เราเห็นข่าวเรื่องจำนวนคนจากกลุ่มประเทศต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาจำนวนมากหลายร้อยคน แต่ติดตามตัวได้เพียงร้อยละ 5.23 โดยต้องประกาศผ่านสื่อสาธารณะให้กลับมาตรวจคัดกรองโรคด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้งให้แน่ใจว่าทุกคนปลอดภัยปลอดโรค แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าคนที่เข้ามานั้นอีกเกือบร้อยละ 95 อยู่ที่แห่งหนตำบลใด เหมือนรอแบบ passive ไม่สามารถ proactive ไปหาเค้าได้

เรื่องนี้ชี้ให้เราเห็นว่าระบบที่ดำเนินการไปตามนโยบายกระตุ้นธุรกิจและท่องเที่ยวนั้น หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาเช่นนี้ ก็ไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น  

ประเด็นต่างๆ ข้างต้นนั้น หยิบยกขึ้นมาเพื่อให้เรียนรู้ เห็นถึงความสัมพันธ์ตั้งแต่กระบวนการวางแผนนโยาบาย กระบวนการดำเนินงาน ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้น และน่าจะเป็นบทเรียนที่ล้ำค่ายิ่งสำหรับทุกประเทศในการทบทวนสิ่งที่ได้ทำมา ที่ดำเนินการอยู่ และที่ควรจะดำเนินการต่อไปในอนาคต 

สถานการณ์ข้างต้น จึงย้อนกลับมาที่ประชาชนทุกคน ที่จำเป็นจะต้องคอยเป็นหูเป็นตา ช่วยกันสอดส่องดูแล ตระหนักถึงช่องโหว่ของระบบที่มี และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในสังคม โดยจำเป็นจะต้องป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดเป็นกิจวัตร ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ลูกค้า และประชาชนทั่วไป 

ตราบใดที่สงครามยังไม่จบ การวางแผนด้วยจุดยืนที่ไม่ประมาท ย่อมมีโอกาสปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของพลเมืองได้ดีกว่าเสมอ

ด้วยรักและห่วงใย




ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก reuters

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง