TNN online หมอเฉลิมชัย ชี้โควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" น่าห่วงจัดให้อยู่ในกลุ่มรุนแรงสูงสุด

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

หมอเฉลิมชัย ชี้โควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" น่าห่วงจัดให้อยู่ในกลุ่มรุนแรงสูงสุด

หมอเฉลิมชัย ชี้โควิดสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน น่าห่วงจัดให้อยู่ในกลุ่มรุนแรงสูงสุด

หมอเฉลิมชัย ชี้ "โอไมครอน" โควิดสายพันธุ์ใหม่ น่าห่วงจัดให้อยู่ในกลุ่มรุนแรงสูงสุด มีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม ที่ตำแหน่งหนามมากกว่าเดลต้าถึง 3.5 เท่า

วันนี้ (28พ.ย.64) นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่าน blockdit ส่วนตัว “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” ระบุว่า น่ากังวลมาก !! ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตัวล่าสุด โอไมครอน เปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งหนามมากกว่าเดลต้า 3.5 เท่า องค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มรุนแรงสูงสุดแล้ว

ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้ไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ B.1.1.529 ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ เป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงสูงสุด หรือ กลุ่มน่ากังวล (VOC : Variant of Concern) และ ตรวจพบว่ามีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งหนามมากถึง 32 ตำแหน่ง ในขณะที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตา กลายพันธุ์ที่ส่วนหนามเพียง 9 ตำแหน่ง ทำให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนมีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมที่ตำแหน่งหนามมากกว่าเดลตาถึง 3.5 เท่า

รายละเอียดที่ควรสนใจเกี่ยวกับไวรัส "โอไมครอน" ตัวนี้ ประกอบด้วย

1. ไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ซึ่งก่อโรคโควิด-19 เป็นไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ง่ายเป็นธรรมชาติ เนื่องจากเป็นสารพันธุกรรมเดี่ยว อาร์เอ็นเอ (RNA)

2. ในช่วงสองปีที่ผ่านมา พบว่า มีไวรัสกลายพันธุ์ไปแล้ว มากกว่า 1,000 สายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อย

3. ไวรัสมีสารพันธุกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ประมาณ 30,000 ตำแหน่ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปเพียงตำแหน่งเดียว ก็เรียกว่าเป็นไวรัสกลายพันธุ์ได้แล้ว

4. องค์การอนามัยโลกได้จัดกลุ่มไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ เรียงตามลำดับความรุนแรง ได้แก่

4.1 ไวรัสที่น่ากังวล (VOC) ประกอบด้วย สายพันธุ์อัลฟา หรือ อังกฤษเดิม , สายพันธุ์เบตา หรือ แอฟริกาใต้เดิม , สายพันธุ์แกมมา หรือ บราซิลเดิม , สายพันธุ์เดลตา หรือ อินเดียเดิม และได้ประกาศสายพันธุ์ที่ 5 คือ โอไมครอน ของแอฟริกาใต้

4.2 ไวรัสที่ต้องให้ความสนใจ (VOI : Variant of Interest) มีสองสายพันธุ์ ได้แก่ แลมป์ดา และ มิว

4.3 ไวรัสที่ควรติดตาม (VUM : Variant Under Monitoring) มีทั้งหมด 7 ตัว

5. การจัดกลุ่มไวรัสดังกล่าวใช้องค์ประกอบ ดังนี้

5.1 สารพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไวรัสเกิดการเปลี่ยนแปลงในประเด็นของ

5.1.1 การแพร่ระบาดที่กว้างขวางรวดเร็วมากขึ้น

5.1.2 ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น

5.1.3 ความสามารถในการหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันหรือวัคซีนมีมากขึ้น

5.2 มีการแพร่ระบาดในชุมชน หรือเกิดเป็นคลัสเตอร์ในหลากหลายประเทศ

6. ไวรัสโอไมครอน มีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมมากที่สุด เท่าที่เคยมีการกลายพันธุ์มาคือมากกว่า 50 ตำแหน่ง และที่สำคัญคือเปลี่ยนแปลงในส่วนหนามซึ่งใช้ในการก่อโรคในมนุษย์ มากถึง 32 ตำแหน่ง

เมื่อเปรียบเทียบกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ มีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งหนามเพียง 9 ตำแหน่ง ทำให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนมีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมที่ตำแหน่งหนาม มากกว่าไวรัสเดลตาถึง 3.5 เท่า

7.ไวรัสโอไมครอนพบเป็นครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ตามด้วยประเทศบอตสวานา และอีกหลายประเทศในแอฟริกาใต้ เช่น นามิเบีย ซิมบับเว เลโซโท เอสวาตีนี มาลาวี อังโกลา โมซัมบิก และ แซมเบีย

8. ขณะนี้มีการแพร่ระบาดออกไปนอกทวีปแอฟริกาใต้แล้ว ได้แก่ ในทวีปยุโรปคือ อังกฤษพบผู้ป่วยสองราย เป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากแอฟริกาใต้ และเบลเยี่ยม ฮ่องกงพบ 1 ราย ก็เดินทางกลับมาจากแอฟริกาใต้เช่นกัน นอกจากนั้นยังพบในประเทศอิสราเอลด้วย การตรวจพบผู้ติดเชื้อนั้น ส่วนใหญ่จะตรวจพบจากการเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และมีการกักตัว

10.เหตุที่ในประเทศแอฟริกาใต้ มีการกลายพันธุ์ของไวรัสบ่อยครั้ง เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนได้จำนวนน้อย จึงมีการระบาดของโรคมาก และไวรัสเพิ่มจำนวนบ่อย จึงกลายพันธุ์ได้มากกว่า

11.ขณะนี้ประเทศอังกฤษ ได้ประกาศให้ 10 ประเทศในแอฟริกาห้ามเดินทางเข้าอังกฤษ และคนอังกฤษที่มาจากประเทศดังกล่าวจะถูกกักตัวอย่างน้อย 10 วัน เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์

12.ส่วนของประเทศไทย ได้ประกาศห้ามพลเมืองจาก 8 ประเทศในแอฟริกา เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2564 และคนไทยที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศดังกล่าว จะต้องถูกกักตัว 14 วัน

สำหรับ "โอไมครอน" โควิดสายพันธุ์ใหม่ omicron บี.1.1.529 จำเป็นต้องเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด รวมทั้งติดตามรายงานการศึกษาซึ่งจะมีเพิ่มเติมว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน จะมีการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตามากน้อยอย่างไร รวมทั้งมีอาการโรคที่จะรุนแรง และอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ประการสำคัญที่สุดคือ จะดื้อต่อวัคซีนหรือไม่

ถ้าโชคดี การกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งส่วนหนามของไวรัสดังกล่าว ทำให้ติดเชื้อแพร่ระบาดน้อยลง มีอาการรุนแรงน้อยลง และวัคซีนป้องกันได้ ก็จะโล่งอกกันไป

แต่ถ้าโชคไม่ดี การกลายพันธุ์ในส่วนหนามครั้งนี้ ทำให้มีการแพร่ระบาดรวดเร็วมากขึ้น อาการของโรครุนแรงและเสียชีวิตสูง และดื้อต่อวัคซีนด้วยแล้ว

ก็จะเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งใหม่อีกระลอกหนึ่งทั่วโลก ซึ่งจะกระทบกับประเทศต่าง ๆ อย่างรุนแรง ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ

"แม้จะมีบางบริษัทออกมาประกาศว่า สามารถที่จะผลิตพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ เพื่อรองรับโอไมครอนได้ใน 6 สัปดาห์ ก็ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ว่าจะทำได้รวดเร็วภายในเวลาดังกล่าว


ข้อมูลจาก  นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย)

ภาพจาก AFP / (ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย)


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง