TNN online สหรัฐฯ ประกาศจอง "ยาเม็ดรักษาโควิด" ของไฟเซอร์ ที่ยังอยู่ในขั้นทดลองหลายล้านเม็ด

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

สหรัฐฯ ประกาศจอง "ยาเม็ดรักษาโควิด" ของไฟเซอร์ ที่ยังอยู่ในขั้นทดลองหลายล้านเม็ด

สหรัฐฯ ประกาศจอง ยาเม็ดรักษาโควิด ของไฟเซอร์ ที่ยังอยู่ในขั้นทดลองหลายล้านเม็ด

ประธานาธิบดี "ไบเดน" ระบุ สหรัฐฯ จองซื้อยาเม็ดรักษาโควิด-19 ของไฟเซอร์จำนวนหลายล้านเม็ด หลังไฟเซอร์เพิ่งประกาศผลการทดลองประสิทธิภาพของยาสูงถึงร้อยละ 89 สูงกว่าประสิทธิภาพของยาเม็ดรักษาโควิดของเมอร์ค ด้าน ไฟเซอร์ ระบุได้หยุดการทดลองยาดังกล่าวก่อนเวลาแล้ว

วันนี้ (6 พ.ย.64) ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ แถลงเมื่อวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น ว่า สหรัฐฯ ได้จองซื้อยาเม็ดรักษาโควิด-19 ของบริษัทยาไฟเซอร์ที่ยังอยู่ในขั้นทดลองไว้แล้ว เป็นจำนวนหลายล้านเม็ด 

และหากผลการทดลองยาตัวนี้ สรุปว่าใช้ได้ผล และหากได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA สหรัฐฯ จะมียารักษาโควิดตัวนี้โดยเร็ว เพื่อใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ทันที

ไบเดน ระบุว่า ยาเม็ดตัวนี้ จะเป็นการเพิ่มเครื่องมือใหม่ให้แก่สหรัฐฯ ในการปกป้องชาวอเมริกันให้รอดพ้นจากผลที่เลวร้ายที่สุดของโควิด

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานด้วยว่า ทางไฟเซอร์ ระบุว่า การทดลองยาเม็ดรักษาโควิดตัวนี้ ได้หยุดลงก่อนเวลา หลังจากผลการทดลองพบว่า มีประสิทธิภาพในการลดโอกาสการเข้าโรงพยาบาล หรือการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิดในวัยผู้ใหญ่ โดยทำให้อาการไม่ทรุดหนัก ได้สูงถึงร้อยละ 89 สูงยิ่งกว่าประสิทธิภาพของยาเม็ดรักษาโควิด “โมลนูพิราเวียร์” ของบริษัทยา เมอร์ค (Merck) ที่เป็นยาเม็ดรักษาโควิดตัวแรกของโลก

โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมอร์คเปิดเผยผลการทดลองยาโมนูลพิราเวียร์ พบว่า สามารถลดโอกาสการเสียชีวิตหรือการเข้าโรงพยาบาลลงได้ครึ่งหนึ่ง ในผู้ติดเชื้อโควิดที่มีความเสี่ยงสูงว่าอาการจะรุนแรง

อย่างไรก็ตาม บริษัทยาทั้ง 2 แห่ง ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการทดลองยารักษาโควิดอย่างเต็มรูปแบบ  

ด้าน อัลเบิร์ต บูร์ลา ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอของไฟเซอร์ เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์ CNBC ล่าสุดว่า จะยื่นผลการทดลองเบื้องต้นยาเม็ดรักษาโควิดของไฟเซอร์ ต่อ FDA คาดว่าจะยื่นได้ก่อนวันขอบคุณพระเจ้า 25 พ.ย.นี้ โดยผลการทดลองยาที่ไฟเซอร์เตรียมจะยื่นต่อ FDA นั้น จะรวมถึงข้อมูลที่ไฟเซอร์ได้ให้ยาเม็ดรักษาโควิดตัวนี้แก่ผู้ป่วยโควิด ไปพร้อมกับยาต้านไวรัสอีกตัวหนึ่ง ที่มีชื่อว่า "ริโทนาเวียร์" (Ritonavir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสที่มีใช้กันทั่วไปอยู่แล้วด้วย


ภาพจาก Reuters

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง