TNN online มธ.เซ็นสัญญาสั่งจอง "ยาโมลนูพิราเวียร์" อีกประมาณ 200,000 เม็ด

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

มธ.เซ็นสัญญาสั่งจอง "ยาโมลนูพิราเวียร์" อีกประมาณ 200,000 เม็ด

มธ.เซ็นสัญญาสั่งจอง ยาโมลนูพิราเวียร์ อีกประมาณ 200,000 เม็ด

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เผย เซ็นสัญญาสั่งจอง "ยาโมลนูพิราเวียร์" กับผู้ผลิตจากอินเดียอีกประมาณ 200,000 เม็ด

วันนี้( 22 ต.ค.64) รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระบุถึง กรณีการนำเข้า โมลนูพิราเวียร์ ว่า ทางรพ.ธรรมศาสตร์ได้ทำความตกลงร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตยา โมลนูพิราเวียร์ ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตในการผลิตยาจากบริษัทเมอร์ค เพื่อร่วมการทดลองประเมินประสิทธิภาพของยากับผู้ป่วยโควิดในระยะที่ 3 เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดนี้ในรพ.ธรรมศาสตร์ 

โดยจะมีการนำเข้ายา โมลนูพิราเวียร์ เบื้องต้น 13,000 เม็ดก่อน ในการช่วยดูแลผู้ป่วยโควิดในโครงการศึกษาทดลอง 250 คน คาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ รวมถึงได้มีการเซ็นสัญญาสั่งจอง โมลนูพิราเวียร์ที่จะนำมาใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อโควิดอีกประมาณ 200,000 เม็ด จากบริษัทผู้ผลิตยาในอินเดียแล้ว 

อย่างไรก็ตามยาในจำนวนนี้ จะถูกนำมาใช้ในช่วงวันเวลาใดต้องรอให้องค์การอาหารและยาของสหรัฐ หรือ FDA สหรัฐให้การรับรองยาชนิดนี้เป็นที่เรียบร้อยก่อน และผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยก่อนนำมาใช้ 

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับราคา ยาโมลนูพิราเวียร์ จากบริษัทผู้ผลิตในอินเดีย 1 คอร์ส 800 บาท โดย 1 คอร์สมีปริมาณยา 40 เม็ด ขณะที่หากเป็นยาโมลนูพิราเวียร์ จากบริษัทผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา 1 คอร์สจะอยู่ที่ประมาณ 20,000-30,000 บาท 

ขณะที่ความคืบหน้าการนำเข้า วัคซีนโมเดอร์นา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความสนใจในวัคซีนเช่นเดียวกัน โดยปีนี้สนใจวัคซีนชนิด mRNA ของโมเดอร์นา ส่วนปีหน้าเป็นวัคซีนชนิดโปรตีนเบสที่จะนำมาใช้ในเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ซึ่งทั้งสองกรณีได้มีการพูดคุยหารือไว้แล้วกับทางบริษัทเอกชนอยู่ 2 แห่งในการจัดซื้อนำเข้าโมเดอร์นา ในส่วนของการพูดคุยในสัญญา ยืนยัน จะพยายามนำวัคซีนเข้ามาให้ได้ภายในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเดือนตุลาคมหรือเดือนพฤศจิกายน

เบื้องต้น ตามแผนการจัดซื้อในสัญญา ภายในเดือนตุลาคม 1.5 ล้านโดส ภายในกลางเดือนพฤศจิกายน 2 ล้านโดส รวม 3.5ล้านโดส 

ส่วนการที่จะประกาศว่า วัคซีนจะนำเข้ามาในช่วงวันเวลาใด ยังคงไม่สามารถบอกได้ชัดเจนจึงยังไม่ได้เปิดให้ประชาชนจองวัคซีน แต่หากวัคซีนมาถึงเมืองไทยเมื่อไหร่ ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯจะประกาศทันที  ส่วนการสั่งซื้อวัคซีนชนิดโปรตีนเบส ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศฝั่งยุโรป จะมีการเซ็นสัญญาเบื้องต้น ประมาณ 10 ล้านโดส วัคซีนจะเข้ามาในปีหน้าเพื่อนำมากระตุ้นในเข็มที่ 3 ซึ่งข้อดีของวัคซีนชนิดโปรตีนเบส คือ ผลข้างเคียงน้อย ซึ่งจะเป็นวัคซีนในรุ่นถัดไป ไม่ใช่วัคซีนในรุ่นที่ผ่านมา

โดยวัคซีนชนิดโปรตีนเบสที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะนำเข้าไม่ใช้วัคซีนโปรตีนเบส ของ โนวาแว๊กซ์ แต่เป็นเทคโนโลยีเดียวกันของทางฝั่งยุโรป ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดทางบริษัทผู้ผลิตอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตในระยะ 3 ที่คาดว่าจะได้ช่วงเดือนธันวาคม


ภาพจาก ผู้สื่อข่าว TNN ช่อง 16 / AFP


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง