TNN online ‘หมอโอภาส’ เผยวัคซีนไฟเซอร์ส่งมอบเร็วขึ้น คาดได้ภายในเดือนก.ย.

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

‘หมอโอภาส’ เผยวัคซีนไฟเซอร์ส่งมอบเร็วขึ้น คาดได้ภายในเดือนก.ย.

‘หมอโอภาส’ เผยวัคซีนไฟเซอร์ส่งมอบเร็วขึ้น คาดได้ภายในเดือนก.ย.

‘หมอโอภาส’ ยืนยันการจัดหาวัคซีนไม่มีเรื่องเงินทอน พร้อมเผยไฟเซอร์อาจส่งวัคซีนเร็วขึ้น คาดได้ภายในเดือนก.ย.นี้

วันนี้ ( 4 ก.ย. 64 )นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าสถานการณ์ในประเทศช่วง 1 เดือนที่ผ่านมมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังคงต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นต่อไป โดยไม่ได้บังคับแต่ต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในส่วนของการจัดหาวัคซีนไม่มีเรื่องเงินทอน ถึงแม้ขณะนี้จะมีปริมาณวัคซีนมากขึ้นแต่ตลาดยังเป็นของผู้ขาย การเซ็นสัญญาที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องไม่ปกติ โดยไม่สามารถยืนยันได้เลยว่าจะได้รับส่งมอบเมื่อไหร่ ปริมาณเท่าไหร่ และมีข้อกำหนดจากผู้ผลิตที่ห้ามเปิดเผยสัญญา แต่การดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมาย มีการส่งสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา และผ่านความเห็นของจากคณะรัฐมนตรี

โดยในส่วนของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้รับคำยืนยันจากผู้บริหารฯ ว่าภายในปีนี้จะส่งมอบให้ครบ 61 ล้านโดส ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์นั้นจะมีการส่งมอบให้ 30 ล้านโดสภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่มีแนวโน้มที่บริษัทฯ จะเริ่มส่งมอบให้เร็วขึ้นภายในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนวัคซีนซิโนแวคนั้นยังมีประสิทธิผลที่ช่วยชีวิตประชาชนได้ หลังจากมีการศึกษาเรื่องฉีดวัคซีนไขว้ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ โดยมีการนำไปใช้ในประเทศเยอรมนี ซึ่งกระทรวงฯ จะมีการศึกษาแนวทางเพิ่มเติมไม่หยุดนิ่ง

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากย้อนไปดูการใช้งานวัคซีนซิโนแวคในช่วงเดือน ธ.ค.63-มี.ค.64 ที่เกิดการระบาดของสายพันธุ์ G ใน จ.สมุทรสาคร สามารถช่วยลดการป่วยและเสียชีวิตได้ 90.5%, ในเดือน เม.ย.-พ.ค.64 เกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Alpha ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถช่วยลดการป่วยและเสียชีวิตได้ 90.7%, ในเดือน มิ.ย.64 เกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Alpha ใน โรงพยาบาลที่ จ.เชียงราย สามารถช่วยลดการป่วยและเสียชีวิตได้ 82.87% และในเดือน มิ.ย.-ส.ค.64 เกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Delta มีประสิทธิภาพ 75.0% จึงได้มีการฉีดไขว้กับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสามารถสร้างภูมิต้านทานสายพันธุ์ดังกล่าวได้หลังจากฉีดไป 2 สัปดาห์ ซึ่งได้มีการฉีดไขว้วัคซีนไปแล้ว 2.5 ล้านคน มีผู้ที่ฉีดแล้วเสียชีวิต 1 ราย

โดยในช่วง 4 เดือนของปีนี้จะมีวัคซีนในการใช้งานเพิ่มขึ้น คือ ก.ย.จำนวน 17.3 ล้านโดส, ต.ค.จำนวน 24 ล้านโดส, พ.ย.จำนวน 23 ล้านโดส และ ธ.ค.จำนวน 28 ล้านโดส ทำให้ปีนี้มีวัคซีนใช้งานรวม 140 ล้านโดส

สำหรับการดำเนินโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์นั้นถือว่ามีมาตรการที่ดีสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ โดยจากจำนวนนักท่องเที่ยวสะสม 27,216 ราย พบติดเชื้อ 85 ราย หรือคิดเป็น 0.31% รักษาหายแล้ว 20 ราย โดยผู้ที่ติดเชื้อดังกล่าวได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว 77 ราย โดยเป็นวัคซีน COVISHIELD 12.90%, AstraZeneca 1.10%, Sinovac 0.81%, Johnson&Johnson 0.56%, Sinopharm 0.35%,  Pfizer 0.25% และ Moderna 0.08%

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง