TNN online สธ.ยืนยัน "โควิดสายพันธุ์ C.1.2" ยังไม่พบในประเทศไทย

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

สธ.ยืนยัน "โควิดสายพันธุ์ C.1.2" ยังไม่พบในประเทศไทย

สธ.ยืนยัน โควิดสายพันธุ์ C.1.2 ยังไม่พบในประเทศไทย

กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โควิด-19 แนวโน้มดีขึ้น โดยผ่านจุดสูงสุดของการติดเชื้อมาแล้ว ขณะที่ ยังไม่พบเชื้อสายพันธุ์ C.1.2 ในไทย และมีการสุ่มตัวอย่างตรวจรหัสพันธุกรรมของสายพันธุ์ ประมาณสัปดาห์ละ 500 ตัวอย่าง

วันนี้ (31 ส.ค.64) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉินกรมควบคุมโรค ระบุว่า สถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนการเสียชีวิตนั้น เป็นวันแรกที่จำนวนการเสียชีวิตต่ำกว่า 200 ราย นับตั้งแต่มีการรายงานเสียชีวิตต่อวันที่มากว่า 200 รายในช่วงที่ผ่านมา หากดูกราฟแสดงผลยอดผู้ติดเชื้อ จะพบว่าได้เลยจุดสูงสุดมาแล้ว 

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดของวัน ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี ราชบุรี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา นครปฐม และสงขลา 

ส่วนผู้เสียชีวิต 190 ราย ยังคงเป็นกลุ่มผู้เสียชีวิตในลักษณะเดิม คือ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลัก เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง อายุค่ากลางอยู่ที่ 73 ปี ระยะเวลาตั้งแต่ทราบผลจนถึงเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ 10 วัน ในจำนวนนี้รักษานานสุด 60 วันก่อนเสียชีวิต

โรคประจำตัวความเสี่ยง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน อ้วน โรคไต ติดเตียง โดยในจำนวนผู้เสียชีวิต เป็นการติดเชื้อภายในพื้นที่ตนเอง 183 ราย ความเสี่ยงติดเชื้อจากคนรู้จัก 93 ราย และติดเชื่อจากคนในครอบครัว 9 ราย

ส่วนรายงานการฉีดวัคซีนโควิดรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีผู้รับวัคซีนใหม่ 817,342 โดส ทำให้ยอดรวมผู้ได้รับวัคซีนแล้วประมาณ 24 ล้านโดส 

ขณะที่ยอดการฉีดวัคซีนโควิดสะสมประมาณ 31 ล้านราย

นพ.เฉวตสรร ระบุถึงกรณีการรายงานพบสายพันธุ์ใหม่ "สายพันธุ์ C.1.2" ด้วยว่า ตามธรรมชาติเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ หลายประเทศมีการเฝ้าระวัง ส่วนของประเทศไทยยังไม่มีการตรวจพบสายพันธุ์นี้ และขอให้ความมั่นใจระบบการเฝ้าระวังของไทยมีการตรวจจีโนม ดูรหัสพันธุกรรมของสายพันธุ์ประมาณสัปดาห์ละ 500 ตัวอย่าง

เมื่อทราบแหล่งที่มาการพบสายพันธุ์ใหม่จากต่างประเทศเข้ามาจะมีการสุ่มตรวจหาว่ามีสายพันธุ์ที่ดูแปลกแตกต่างจากเดิมหรือไม่ รวมถึงการสุ่มตรวจจากทั่วประเทศ โดยสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทยยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เพิ่มความเข้มข้นในการสุ่มตรวจสายพันธุ์มากขึ้น 

ส่วนความรุนแรงของเชื้อกลายพันธุ์นั้น นพ.เฉวตสรร ระบุว่า ยังคงประเมินเร็วเกินไป โดยจะต้องเก็บข้อมูลไปอีกสักระยะ และยังคงต้องจับตามองต่อไป

ขณะที่ การผ่อนคลายมาตรการผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรมต่างๆ วันที่ 1 ก.ย. ซึ่งเป็นบางกิจกรรม/กิจการ แต่ยังอยู่ในกลุ่มการแบ่งโซนพื้นที่จังหวัดตามการแพร่ระบาดคงเดิม ดังนั่นการผ่อนปรนต่างๆ ยังคงดำเนินภายใต้มาตรการควบคุมโรค ทั้งด้านส่วนบุคคลและสถานที่

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง