TNN online จับตา! โควิดสายพันธุ์เอปซีลอน Epsilon ลดประสิทธิภาพวัคซีน mRNA 2-3.5 เท่า

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

จับตา! โควิดสายพันธุ์เอปซีลอน Epsilon ลดประสิทธิภาพวัคซีน mRNA 2-3.5 เท่า

จับตา! โควิดสายพันธุ์เอปซีลอน Epsilon ลดประสิทธิภาพวัคซีน mRNA 2-3.5 เท่า

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผย เชื้อโควิดกลายพันธุ์ "เอปซีลอน" (Epsilon) ต้องจับตามอง หลังพบว่าวัคซีนโควิดชนิด mRNA มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อสายพันธุ์เอปซีลอน ลดลง 2-3.5 เท่า

วันนี้ (25 ส.ค.64) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (Chulabhorn Royal Academy) สถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และเทคโนโลยี และให้บริการทางการแพทย์อย่างครบวงจร โพสต์ข้อความให้ความรู้ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุเกี่ยวกับเชื้อโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์เอปซีลอน (Epsilon) ที่ต้องจับตาเฝ้าระวังอีกสายพันธุ์หนึ่ง

โดยระบุว่า การพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เอปซีลอน (Epsilon) ในปากีสถาน นับเป็นการแพร่ระบาดสู่ภูมิภาคเอเชียเป็นครั้งแรก และเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ต้องจับตามองเนื่องจากอาจแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น แม้ว่าจะยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยก็ตาม

ผลการวิจัยโดย แมทธิว แม็กคัลลัม นักชีวเคมีแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และคณะ ที่เผยแพร่ในวารสาร "Science" ของสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน (AAAS) พบว่า วัคซีนโควิดชนิด mRNA มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อสายพันธุ์เอปซีลอนลดลง 2-3.5 เท่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ โดยทำการทดลองนำพลาสมาของอาสาสมัครที่ได้รับการฉีด วัคซีนโควิดชนิด mRNA ครบสองโดสมาทดสอบประสิทธิภาพกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เอปซีลอน อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อมูลดังกล่าว

สายพันธุ์เอปซีลอนพบครั้งแรกในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สามารถแยกเป็น 2 สายพันธุ์ย่อย คือ B.1.427 และ B.1.429 ที่แตกต่างกันที่ตำแหน่งและจำนวนการกลายพันธุ์ ในโปรตีนหนามของไวรัส โดยมีการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรมถึง 3 ตำแหน่ง เพื่อเกาะกับเซลล์ในร่างกาย ทำให้สามารถหลบภูมิคุ้มกันและต้านทานแอนติบอดีที่ร่างกายกระตุ้น หลังรับวัคซีนชนิด mRNA ได้ดีขึ้น

ทำให้ยังมีการสังเกตและศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อไวรัส โควิดสายพันธุ์นี้อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการควบคุมการแพร่กระจายอย่างรัดกุมเช่นเดียวกับ สายพันธุ์อื่น ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ลดระดับความกังวลต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เอปซีลอนลงเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และหันมาให้ความสนใจกับสายพันธุ์เดลตา B.1.617.2 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในกว่า 90 ประเทศ


ข่าวแนะนำ