TNN online ทำความรู้จัก 4 วัคซีนของไทย ความหวังช่วยป้องกันการระบาดโควิด-19

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ทำความรู้จัก 4 วัคซีนของไทย ความหวังช่วยป้องกันการระบาดโควิด-19

ทำความรู้จัก 4 วัคซีนของไทย ความหวังช่วยป้องกันการระบาดโควิด-19

นักวิจัยไทยเร่งพัฒนาวัคซีนถึง 4 ชนิด มีทั้งอยู่ระหว่างการทดทองในมนุษย์และจะเริ่มทดลองในมนุษย์ เพื่อให้คนไทยได้มีวัคซีนใช้ป้องกันโควิดอย่างเพียงพอภายในปีหน้า

การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทยยังคงเดินหน้าต่อไป โดย ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในระยะการทดสอบในมนุษย์แล้ว รวม 4 ชนิด แต่ละชนิดมีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง 

วัคซีนตัวแรก วัคซีน จุฬาคอฟไนน์ทีน (ChulaCov19) เป็นวัคซีนmRNA วิจัยและพัฒนาโดย ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

วัคซีนตัวที่ 2 ชื่อวัคซีน DNV-HXP-S เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย วิจัยและพัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และมหาวิทยาลัยมหิดล 

วัคซีนตัวที่ 3 เป็นวัคซีนพัฒนาจากเซลล์ใบยาสูบ ที่สร้างนวัตกรรมการใช้เซลล์ใบยาสูบว วิจัยและพัฒนาโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

วัคซีนตัวที่ 4 ชื่อวัคซีนโควิเจน เป็นวัคซีนชนิดDNA วิจัยและพัฒนา โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด 

เปิดรายละเอียดของวัคซีนแต่ละตัว แต่ละชนิด 

วัคซีน จุฬาคอฟไนน์ทีน (ChulaCov19) เป็นวัคซีน mRNA ซึ่งพัฒนาโดย นักวิจัยจากศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ขณะนี้ได้ทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 แล้วในกลุ่มอาสาสมัคร จำนวน 72 คน ช่วงอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 คน และ ช่วงอายุ 65-75 ปี จำนวน 36 คน 

ซึ่งได้แถลงความสำเร็จการทดสอบระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา และ จะทดสอบระยะที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ในกลุ่มอาสาสมัคร จำนวน 150- 300 คน และตั้งเป้าจะผลิตและเริ่มฉีดให้คนไทยภายในเดือนเมษายน ปี 2565 นี้

โดยวัคซีนจุฬาคอฟไนน์ทีน สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เท่ากับวัคซีน ไฟเซอร์ สามารถยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ดี รวมถึงสามารถยับยั้งเชื้อกลายพันธุ์ได้ ทั้ง 4 สายพันธุ์ ทั้งสายพันธ์เดลตา ที่กำลังระบาดเป็นสายพันธุ์ขณะนี้ รวมถึงสายพันธ์ อัลฟา เบตา และ แกมมา 

สำหรับข้อดีของวัคซีน จุฬาคอฟไนน์ทีน(ChulaCov19)สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียส ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส ได้นาน 2 สัปดาห์ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการจัดเก็บ และการบริหารวัคซีน

ชนิดที่ 2 วัคซีน DNV-HXP-S เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ศึกษาวิจัยโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และมหาวิทยาลัยมหิดล มีการพัฒนาโดยนำสารพันธุกรรมส่วนโปรตีนหนาม ผนวกรวมกับไวรัส โรคนิวแคสเซิล ผลิตเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายโดยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก 

ซึ่งผลวิจัยพบว่ามีความปลอดภัย และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในสัตว์ทดลอง และได้ทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา ในอาสาสมัครจำนวน 210 คน และเริ่มทดลองระยะที่ 2 แล้วเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจะรู้ผลในเดือนพฤศจิกายน หากเป็นไปตามเป้าหมาย จะเริ่มเดินหน้าทดลองระยะ 3 ทันที

หากสำเร็จ คาดว่าจะขอรับทะเบียนตำรับและผลิตใช้ได้เอง ภายในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยคาดว่าปีแรกจะผลิต ได้ 20-30 ล้านโดส

เนื่องจากโรงงานขององค์การเภสัชกรรม มีความพร้อมในการผลิตระดับอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานใหม่ ได้รับความร่วมมือระดับนานาชาติจากองค์กร PATH ในการสนับสนุนกล้าเชื้อไวรัสการให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และร่วมวิจัยกับผู้ผลิตจากประเทศเวียดนาม และบราซิล

วัคซีนชนิดที่ 3 ที่ผลิตโดยนักวิจัยไทย เป็นวัคซีนที่พัฒนาจากเซลล์ใบยาสูบ โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคิดค้นพัฒนาวัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนต้นพืชใบยาสูบที่เรียกว่า โปรตีนซับยูนิตวัคซีนซึ่งวัคซีนดังกล่าวจะทำหน้าที่เสมือนโรงงานผลิตชิ้นส่วนของไวรัส แต่เป็นไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรค  

เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกายก็จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันสามารถป้องกันเชื้อโควิด 19 ได้ โดยหลังจากการพัฒนา วัคซีนใบยาและทดสอบในสัตว์ทดลองหนูขาวและลิง พบว่า มีความปลอดภัยไม่มีผลข้างเคียงใดๆ และกระตุ้น T cell ให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง 

โดยจะเริ่มจะเริ่มทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 เดือนกันยายนนี้ และทดลองระยะที่2 ในเดือนธันวาคม ปี 2564 เพื่อหาขนาดของวัคซีนที่เหมาะสมในการกระตุ้นภูมิ และการปรับสูตรให้สามารถครอบคลุมสายพันธุ์ต่างๆ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีโรงงานผลิตวัคซีนด้วยพืช กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จึงได้สนับสนุนงบประมาณ 160 ล้านบาท ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อปรับปรุงพัฒนาโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืช 

วัคซีนชนิดที่ 4  ชื่อวัคซีนโควิเจน เป็นวัคซีนชนิดDNA วิจัยโดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ซึ่งการสร้างนวัตกรรมวัคซีนโควิด-19 ชนิดDNA นี้ มีความปลอดภัยและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมากในหนูทดลอง 

ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุมัติกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ภายในเดือนตุลาคม 2564 คาดว่าจะเริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 และ 3 ภายในปี 2564 

ขณะเดียวกัน ก็มีการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ในประเทศออสเตรเลียในอาสาสมัคร 150 คน คู่ขนานกันไปด้วย



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง