TNN online เรื่องต้องรู้! เตือน Work from home ช่วงโควิด ให้ระวังภัยออนไลน์ 6 ประเภท

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

เรื่องต้องรู้! เตือน Work from home ช่วงโควิด ให้ระวังภัยออนไลน์ 6 ประเภท

เรื่องต้องรู้! เตือน Work from home ช่วงโควิด ให้ระวังภัยออนไลน์ 6 ประเภท

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือน Work from home ช่วงโควิด-19 ให้ระวังภัยออนไลน์ 6 ประเภท ทั้งฉ้อโกง - ข่าวปลอม - แก๊งแอปพลิเคชันเงินกู้

วันนี้ (17ส.ค.64) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์  ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กล่าวว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำงานส่วนใหญ่มีนโยบายให้ประชาชนทำงานที่บ้าน (work from home) ทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นแบบออนไลน์มากขึ้น และมีผลทำให้ประชาชนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยในโลกออนไลน์ 6 ประเภท ที่ประชาชนอาจตกเป็นเหยื่อ หรืออาจเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง อันได้แก่ 

(1) การระรานทางไซเบอร์ (Cyber Bully) หมายถึง การกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง การรังแกผู้อื่น หรือ แสดงความคิดเห็น(Comment) หรือ เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูล (Share) ที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ทางสื่อสังคมออนไลน์ อาจมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท ดังนั้นควรมีสติก่อนจะโพสต์ แสดงความคิดเห็น หรือ ส่งต่อข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์

(2) การถูกเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ (ถูกแฮก) มักเกิดจาก การใช้รหัสที่คาดเดาได้ง่าย เช่น หมายเลขโทรศัพท์มือถือ วันเดือนปีเกิด 123456 เป็นต้น  หรืออาจไปกดลิงก์ Phishing ที่สร้างลิงก์มาหลอกให้คลิก เช่น หลอกจะให้รางวัล บัตรกำนัล แจกเงิน แจกภาพ/คลิปลามกอนาจาร, ใบ้หวย เลขเด็ด,ข่าวซุบซิบดารา,หลอกว่าบัญชีธนาคารมีปัญหา ฯลฯ เมื่อเข้าไปในลิงก์ที่กดแล้ว คนร้ายจะให้กรอก Username Password หรือแม้กระทั่งมีการหลอกเอารหัสใช้ครั้งเดียว (OTP) โดยคนร้ายจะโทรศัพท์หรือแชทมาขอรหัสโดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ Call center หรือปลอมเป็นเพื่อนเรา สำหรับการป้องกันการถูกแฮก ต้องตั้งรหัสคาดเดาได้ยาก , ไม่กดลิงก์แปลกๆที่ไม่มีที่มาที่ไป หรือไม่น่าเชื่อถือ , ไม่บอกรหัส OTP แก่ผู้อื่น ,ตั้งค่า รหัสยืนยันตัวตนแบบ2ชั้น (2 Factor Authentication) ในทุกสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น

(3) การฉ้อโกงออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การหลอกซื้อของออนไลน์ในลักษณะซื้อของไม่ได้ของ หรือซื้อของแล้วได้ของไม่เป็นไปตามรูปแบบที่สั่ง (ไม่ตรงปก) , หลอกให้ลงทุนโดยอ้างว่าได้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้นๆ เป็นต้น การป้องกันฉ้อโกงออนไลน์ สามารถทำได้ด้วยคาถา3อย่า คือ อย่าเชื่อ โดยนำชื่อนามสกุล หมายเลขบัญชีธนาคาร ชื่อร้านค้าฯลฯ ไปหาข้อมูลใน google ว่าเคยมีประวัติการฉ้อโกงหรือไม่ อย่าโลภ ไม่ควรเห็นแก่ผลประโยชน์ที่มิจฉาชีพมาอ้างเพื่อชักชวนลงทุนหรือสินค้าราคาถูกมากเกินจริง อย่าละเลยข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรมไซเบอร์ เพื่อจะรู้เท่าทันโจรไซเบอร์

(4) หลอกรักออนไลน์ (Romance Scam) โดยสร้างโปรไฟล์เป็นฝรั่งหรือชาวตะวันออกกลาง มีฐานะดีมาจีบ สุดท้ายหลอกให้โอนเงินไปให้โดยอ้างเหตุผลต่างๆ ,หลอกรักลวงลงทุน (Hybrid Scam) โดยสร้างโปรไฟล์เป็นหนุ่มสาวหมวยตี๋ชาวเอเซีย มาจีบ สุดท้ายหลอกให้ลงทุนค่าเงินสกุลดิจิทัลในแอปพลิเคชันปลอมโดยคนร้ายจะส่งลิงก์มาให้  การป้องกันการหลอกรักออนไลน์และหลอกรักลวงลงทุน คือ เมื่อมีชาวต่างชาติขอเป็นเพื่อนแล้วมีการพูดคุยในลักษณะจีบเป็นแฟน อาจตรวจสอบได้โดยขอนัดเจอตัวจริง หรือร้องขอให้เปิดกล้องวิดีโอคอล ให้เห็นหน้าเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับรูปในโปรไฟล์จริงๆ (หน้าตรงปก) ซึ่งส่วนใหญ่ คนร้ายจะไม่ยอมวิดีโอคอล โดยอ้างเหตุขัดข้องต่างๆ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ และไม่ควรโอนเงินให้ทุกกรณีที่มีการกล่าวอ้าง หรือลงทุนในแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพส่งลิงก์มาให้

(5) แก๊งแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่มีการระบาดมากโดยอาศัยปัญหาทางเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชนในช่วงโควิด-19 เข้ามาชักชวนให้ประชาชนกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน จากนั้นจะหลอกให้โอนเงินค่าธรรมเนียมก่อนกู้ เมื่อเหยื่อโอนเงินแล้วจะบล็อค หรือ อีกรูปแบบหนึ่งคือ ให้กู้เงินจริงแต่จะขูดรีดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เมื่อไม่ชำระหนี้ตามกำหนด จะมีการโทรศัพท์ขู่ ต่อว่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้กู้ นอกจากนั้นจะมีการส่งข้อความหรือโทรศัพท์หาเพื่อนผู้กู้ในลักษณะประจานผู้กู้ หรือหลอกลวงให้เพื่อนผู้กู้มาชำระหนี้แทนโดยอ้างว่าเพื่อนผู้กู้เป็นผู้ค้ำประกัน จึงควรหลีกเลี่ยงการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ทุกกรณี 

(6) ข่าวปลอม (Fake News) มีบุคคลไม่หวังดีพยายามส่งข่าวปลอมเข้ามาในสื่อสังคมออนไลน์โดยมีจุดประสงค์ไม่ดี เช่น สร้างความขัดแย้ง สร้างความเกลียดชัง สร้างความสับสน สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน เป็นต้น จึงควรตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นเรื่องจริงก่อนจะเชื่อและส่งต่อ เพราะอาจตกเป็นเครื่องมือของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดี โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลจาก ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย www.antifakenewscenter.com หรือ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หรือ สำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้แสดงความห่วงใย และได้มอบนโยบายในการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในการป้องกันตัวเองมิให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรในทุกรูปแบบ 

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือมายังพี่น้องประชาชน หากพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว กรุณาแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วน 191 และสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง