TNN online หมอประสิทธิ์ เผยการระบาดโควิด-19 ในไทย ยังไม่ถึงจุดสูงสุด!

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

หมอประสิทธิ์ เผยการระบาดโควิด-19 ในไทย ยังไม่ถึงจุดสูงสุด!

หมอประสิทธิ์ เผยการระบาดโควิด-19 ในไทย ยังไม่ถึงจุดสูงสุด!

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อัปเดตสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก พบว่าทั่วโลกกำลังเข้าสู่การระบาดขาขึ้นจากสายพันธุ์เดลต้า ขณะที่ การระบาดในไทยยังไม่ถึงจุดสูงสุด ซึ่งหากควบคุมสถานการณ์ได้ตามมาตรการควบคุม เชื่อว่าเดือนส.ค.-ก.ย. ตัวเลขการระบาดในประเทศอาจจะลดลง

วันนี้ (10 ส.ค.64) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาอัปเดตสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้การเสวนาในหัวข้อ “ถอดบทเรียนจากสัญญาณเตือนภัย สถานการณ์โลกจากวิกฤตสายพันธุ์เดลต้า”  

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ทั่วโลกได้แพร่ระบาดไปแล้ว 132 ประเทศ และพบว่าทั่วโลกติดเชื้อ 4 ล้านคนต่อสัปดาห์ และแม้จะฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนมากในหลายประเทศ อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิสราเอล ที่ช่วงแรกการติดเชื้อลดลงแต่ต่อมาพบว่ามีการระบาดเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะสายพันธุ์เดลต้า ทำให้แต่ละประเทศต้องกลับมาทบทวนมาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มงวดขึ้น 

ทั้งนี้ การระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ถือว่าเป็นการระบาดที่ใกล้กับช่วงที่มีวัคซีนใหม่ๆ แต่จำนวนของความชันของคลื่นนั้น มีความชันไม่มากเท่า ซึ่งสาเหตุอาจจะเพราะการฉีดวัคซีนที่ในขณะนี้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วทั่วโลกกว่า 4,400 ล้านโดส 

หมอประสิทธิ์ เผยการระบาดโควิด-19 ในไทย ยังไม่ถึงจุดสูงสุด!

สำหรับการระบาดของประเทศไทย ยังคงถือว่าอยู่ในการระบาดในช่วงขาขึ้น ซึ่งเห็นได้จากจำนวนของผู้เสียชีวิตที่ยังคงมีถึง 3 หลัก ดังนั้นในช่วงขาขึ้นจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งการล็อกดาวน์ รวมถึงเร่งความเร็วในการฉีดวัคซีน เพื่อที่จะทำให้ไปสู่เป้าหมายของการลดการแพร่ระบาด

หมอประสิทธิ์ เผยการระบาดโควิด-19 ในไทย ยังไม่ถึงจุดสูงสุด!

ดังนั้น หากสรุปข้อมูลจากการระบาดทั่วโลกจะสามารถแบ่งข้อสรุปออกเป็น 7 ข้อ ได้แก่

1.เชื้อของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ไม่เพียงแพร่ระบาดได้รวดเร็วโดยเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า ประมาณร้อยละ 60 แต่มีหลักฐานว่าก่อให้เกิดอาการที่รุนแรง และอันตรายมากกว่าสายพันธุ์เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่มีอาการรุนแรงในกลุ่มที่มีผู้อายุน้อยลง

2.ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบไม่ว่าจะชนิดไหนก็มีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ โดยรายงานจากสหรัฐอเมริกา พบว่า ไม่แตกต่างจากผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน แต่อาการมักไม่รุนแรง

3.รายงานจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน พบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ยังสามารถพบมีปริมาณไวรัสในจมูกและคอไม่แตกต่างจากผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน 4.หลายประเทศพบการติดเชื้อในเด็กมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง

5.สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนที่มากพอ จะมีส่วนสำคัญในการลดแพร่ระบาดและการเสียชีวิต

6.การแพร่ระบาดในกลุ่มคนจำนวนมาก อาจจะนำไปสู่การกลายพันธุ์และสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในจะทดแทนสายพันธุ์เดิม

7.ความปลอดภัยจากเชื้อโควิดในประเทศใดประเทศหนึ่ง จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของเชื้อในโลก

หมอประสิทธิ์ เผยการระบาดโควิด-19 ในไทย ยังไม่ถึงจุดสูงสุด!

อย่างไรก็ตาม การกำหนดแนวทางการรับมือวิกฤตโควิด-19 นั้น ต้องดำเนินการดังนี้

1.ต้องลดความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตที่เกินศักยภาพของระบบการดูแลสุขภาพ

2.การเร่งลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อ ทั้งมาตรการทางการปกครอง มาตรการทางการสาธารณสุข ในการพัฒนาศักยภาพการตรวจหาผู้ติดเชื้อ การจัดการเตรียมสถานพยาบาลและมาตรการส่วนบุคคลและทางสังคม

3.การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตผู้สูงอายุ และผู้สูงวัย 8 กลุ่มโรค อย่างมากและรวดเร็ว 

4.การเร่งค้นหาผู้เสี่ยงติดเชื้อและแพร่เชื้อโดยเฉพาะการใช้ Antigen Test Kit และ RT-PCR

5.การได้รับยาที่เร็ว แจ้งลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบ

6.การพัฒนาศักยภาพในการดูแลผู้ติดเชื้อทั้ง Home isolation และ Community isolation

หมอประสิทธิ์ เผยการระบาดโควิด-19 ในไทย ยังไม่ถึงจุดสูงสุด!

ส่วนสำหรับประเทศไทยนั้นการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ถือว่ายังไม่ถึงจุดสูงสุด โดยดูจากกราฟที่ปัจจุบันยังคงไม่วิ่งลง ซึ่งตราบใดที่กราฟยังไม่วิ่งลง ก็แปลว่าการแพร่ระบาดยังไม่ถึงจุดสูงสุด อีกทั้งยังพบว่าประมาณร้อยละ 60-70 ของผู้เสียชีวิต เป็นผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี

ดังนั้น จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะต้องเร่งเข้าไปฉีดวัคซีนก่อนวัยอื่นๆ ซึ่งวัคซีนที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน ยังถือว่าลดความรุนแรงของการติดเชื้อและการเสียชีวิตได้อยู่ แต่โอกาสในการลดการแพร่กระจายถือว่าน้อยลงไปมาก ซึ่งมาตรการจัดการโควิด-19 ต้องเป็นมาตรการที่จะต้องติดตามและต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา  

หมอประสิทธิ์ เผยการระบาดโควิด-19 ในไทย ยังไม่ถึงจุดสูงสุด!

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยนั้น ยังถือว่ามีคลัสเตอร์อีกมากที่จะต้องมีมาตรการเข้าไปควบคุมให้อยู่ภายในพื้นที่ ซึ่งในขณะนี้โดยรวมถือว่าสังคมการ์ดไม่ตก ซึ่งการที่การ์ดไม่ตกนั้น อาจจะเห็นกราฟของการติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าความชันลดลง ซึ่งถ้าหากรักษาระยะของการป้องกันและควบคุมในรูปแบบนี้ได้ และเร่งในการฉีดวัคซีนให้ทั่วประเทศ ก็จะเริ่มเห็นผลบางอย่าง

แต่เนื่องจากปัจจุบันยังคงพบกิจกรรม เช่น การพบปะกัน การเข้าไปในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งหากทุกคนปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ภายในเดือนสิงหาคม-กันยายน อาจจะเห็นผลบวกจากการฉีดวัคซีน แต่ทุกอย่างจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ว่าไม่มีสิ่งใดที่เข้ามาก่อให้เกิดการแพร่กระจายเพิ่มขึ้น

ข่าวแนะนำ