TNN online ศบค.ห่วงเด็กติดเชื้อแล้ว 3 หมื่นราย พบทารก 4 เดือน เสียชีวิตอีก

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ศบค.ห่วงเด็กติดเชื้อแล้ว 3 หมื่นราย พบทารก 4 เดือน เสียชีวิตอีก

ศบค.ห่วงเด็กติดเชื้อแล้ว 3 หมื่นราย พบทารก 4 เดือน เสียชีวิตอีก

โฆษก ศบค. เผย มีเด็กติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 30,000 กว่าราย เสียชีวิต 9 ราย โดยพบว่า 8 ใน 9 ราย มีโรคประจำตัว ขณะที่ ยอดเสียชีวิตวันนี้ 149 ราย เป็นชาย 84 ราย หญิง 65 ราย อายุระหว่าง 4 เดือน ถึง 103 ปี

วันนี้ (9 ส.ค.64) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,603 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16,119 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 3,159 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 313 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 12 ราย เสียชีวิต 149 ราย

จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 776,108 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 19,819 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 6,353 ราย

สำหรับข้อมูลผู้เสียชีวิตทั้ง 149 รายนั้น โดยเป็นชาย 84 ราย หญิง 65 ราย เป็นชาวไทย 140 ราย เมียนมา 6 ราย กัมพูชา 1 ราย นอร์เวย์ 1 ราย อเมริกา 1 ราย

อายุระหว่าง 4 เดือน ถึง 103 ปี พบผู้เสียชีวิตอายุ 60 ปีขึ้นไป 97 ราย คิดเป็น 65% อายุต่ำกว่า 60 ปีมีโรคเรื้อรัง 29 ราย คิดเป็น 19% ไม่มีโรคเรื้อรัง 22 ราย คิดเป็น 15% และพบทารกอายุ 4 เดือน เสียชีวิตอีก 1 ราย เป็นชาวเมียนมา อาศัยอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ

นอกจากนี้ ยังพบผู้เสียชีวิตที่บ้าน 26 ราย ในกทม. 24 ราย ชลบุรี 2 ราย

ศบค.ห่วงเด็กติดเชื้อแล้ว 3 หมื่นราย พบทารก 4 เดือน เสียชีวิตอีก

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ชี้แจงว่าในวันนี้มีผู้เสียชีวิต 149 ราย โดยรวมอายุเกิน 60 ปี ถึงร้อยละ 65 มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ร้อยละ 29 รวม 2 กลุ่มนี้สูงถึงร้อยละ 84 และจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุติดเตียงด้วย เมื่อ 2 วัน ที่แล้ว มีการรายงานผู้เสียชีวิตเป็นเด็กเล็ก วันนี้ทารก 4 เดือนเป็นชาวเมียนมา จ.สมุทรปราการ เสียชีวิต ส่วนเมื่อวาน มีรายงานทารกอายุ 14 วันเสียชีวิตเช่นกัน เป็นชาวเมียนมาจากเพชรบูรณ์

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ตอนนี้มีเด็กติดเชื้อประมาณ 30,000 กว่าราย เสียชีวิต 9 ราย โดยพบว่า 8 ใน 9 ราย มีโรคประจำตัว สิ่งที่อยากเน้นย้ำ คือ หากมีเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุติดเตียงที่บ้าน จะดูแลอย่างไรให้คนที่แข็งแรงออกไปทำงานข้างนอกอย่าเอาเชื้อมาติด คือ ให้แยกห้องนอนผู้สูงอายุ ถ้าพื้นที่จำกัดแยกไม่ได้ อาจมีม่านหรือฉากกั้น เน้นให้ผู้สูงอายุอยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเท แยกของใช้ ชาม ช้อน ผ้าเช็ดตัว ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมในบ้าน เช่น ตู้เย็น ลูกบิดประตู โดยเฉพาะโถส้วม อ่างล้างหน้า ราวบันได เป็นต้น บ้านที่ต้องใช้พื้นที่เหล่านี้ร่วมกัน ควรให้ผู้สูงอายุใช้ห้องน้ำก่อน

หากผู้สูงอายุติดเตียงต้องมีคนดูแลพลิกตัว ป้อนอาหาร ควรมีคนดูแลคนเดียว อยู่บ้านมากที่สุด ไปในชุมชนน้อยมาก ขณะที่ให้การดูแลต้องสวมหน้ากากอนามัย ถ้าผู้สูงอายุไม่มีปัญหาทางเดินหายใจ อาจสวมหน้ากากอนามัยให้ด้วย อาจสวมถุงมือและทิ้งขยะให้ถูกต้องด้วย

กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำว่าต้องสังเกตอาการผู้สูงอายุด้วย บางครั้งลูกหลานเดินทางไปในสถานที่ชุมชน ที่ทำงาน อาจรับเชื้อแล้วนำมาแพร่ให้ผู้สูงอายุ และอาจไม่ทราบว่าผู้สูงอายุติดเชื้อ มีอาการซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย เหนื่อยมากขึ้น ดังนั้น ต้องสังเกตวัดอุณหภูมิเป็นประจำวันละ 2 ครั้ง การแยกให้ผู้สูงอายุอยู่ห่าง 2 เมตรจากคนในบ้าน อาจใช้เทคโนโลยีพูดคุยกันแทน 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. ถึง 7 ส.ค. 64 รวม 2,417 ราย พบว่า กลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไปที่เสียชีวิตและไม่ได้รับวัคซีน 838 ราย รับ 1 เข็มน้อยกว่า 2 สัปดาห์ 149 ราย รับเข็ม 1 มากกว่า 2 สัปดาห์ 82 ราย และรับครบ 2 เข็ม 13 ราย ดังนั้น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ แม้ฉีดวัคซีนติดเชื้อเสียชีวิตมีเพียงร้อยละ 0.5

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง