TNN online หมอธีระ เผยงานวิจัย "เดลตา" ฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีดถ้าติดเชื้อปริมาณไวรัสไม่ต่างกัน

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

หมอธีระ เผยงานวิจัย "เดลตา" ฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีดถ้าติดเชื้อปริมาณไวรัสไม่ต่างกัน

หมอธีระ เผยงานวิจัย เดลตา ฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีดถ้าติดเชื้อปริมาณไวรัสไม่ต่างกัน

หมอธีระ เผยงานวิจัยต่างประเทศ "สายพันธุ์เดลตา" ร้ายลึก ผู้ที่ติดเชื้อไม่ว่าจะได้รับวัคซีนหรือยังไม่ได้รับ ปริมาณไวรัสที่ตรวจพบไม่ได้แตกต่างกัน

วันนี้( 3 ส.ค.64) ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ว่า

"สถานการณ์ทั่วโลก 3 สิงหาคม 2564...

จำนวนติดเชื้อใหม่เมื่อวานของไทย สูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลกอีกครั้ง

พรุ่งนี้ยอดรวมทั่วโลกจะแตะ 200 ล้านคน ทั้งๆ ที่ยอดติดเชื้อครบ 100 ล้านคน และตายครบ 2 ล้านคนไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ถือว่าเพิ่มสองเท่าโดยใช้เวลาเพียงครึ่งปี

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 460,477 คน รวมแล้วตอนนี้ 199,533,021 คน ตายเพิ่มอีก 7,404 คน ยอดตายรวม 4,247,759 คน

5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อเมริกา อิหร่าน อินเดีย รัสเซีย และตุรกี

อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 44,966 คน รวม 35,871,674 คน ตายเพิ่ม 186 คน ยอดเสียชีวิตรวม 629,816 คน อัตราตาย 1.8% 

อินเดีย ติดเพิ่ม 30,031 คน รวม 31,725,399 คน ตายเพิ่ม 420 คน ยอดเสียชีวิตรวม 425,228 คน อัตราตาย 1.3% 

บราซิล ติดเพิ่ม 15,143 คน รวม 19,953,501 คน ตายเพิ่ม 337 คน ยอดเสียชีวิตรวม 557,223 คน อัตราตาย 2.8%

รัสเซีย ติดเพิ่ม 23,508 คน รวม 6,312,185 คน ตายเพิ่ม 785 คน ยอดเสียชีวิตรวม 160,137 คน อัตราตาย 2.5% 

ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 5,184 คน ยอดรวม 6,151,803 คน ตายเพิ่ม 51 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,936 คน อัตราตาย 1.8%

อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น 

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น 

หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ายังคงมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 84.89% ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน 

เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ เวียดนาม ล้วนติดหลักพันอย่างต่อเนื่อง 

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน 

แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านและอิรักติดกันหลักหมื่น ทั้งนี้อิหร่านมีจำนวนติดเชื้อใหม่ต่อวันทำลายสถิติเดิม สูงถึง 37,189 คน เป็นระลอกสี่ที่หนักกว่าเดิมเกือบสองเท่า

กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และไต้หวัน ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

...สถานการณ์ของไทยเรายังคงมีการระบาดรุนแรง กระจายไปทั่ว ยังไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก อันดับที่ 5 ของทวีปเอเชีย

หากเทียบกับประเทศบังคลาเทศ ซึ่งมีประชากรกว่า 166 ล้านคน มากกว่าไทย 2.4 เท่า จะพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อต่อจำนวนประชากรของไทยสูงกว่าบังคลาเทศ 1.17 เท่า โดยปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติมากกว่าบังคลาเทศ 2.96 เท่า แม้ปัจจุบันกราฟการระบาดของทั้งสองประเทศมีความคล้ายคลึงกัน แต่ด้วยตัวเลขข้างต้น คงสะท้อนให้เราตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องช่วยกันตัดวงจรการระบาดให้ได้

เคยวิเคราะห์บทเรียนต่างประเทศให้ทราบกันไปแล้วว่า ประเทศที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันระดับสองหมื่น จะกดการระบาดลงไปให้น้อยลงไปถึงระดับห้าพันได้ในเวลา 2-3 สัปดาห์นั้นยากมาก เท่าที่เคยเห็นมาคือ เบลเยี่ยมและแอฟริกาใต้ แต่ประเทศอื่นๆ ล้วนต้องใช้เวลานานตั้งแต่ 6 สัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับมาตรการเข้มข้นหยุดการเคลื่อนไหว การปูพรมตรวจอย่างครอบคลุมทั่วถึง นโยบายปิดกั้นความเสี่ยงไม่ให้เข้ามาในพื้นที่หรือประเทศ และการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงให้แก่ประชาชนอย่างครอบคลุมและทันเวลา 

เช้านี้ทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับลักษณะการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในอเมริกา (ชิ้นหนึ่งในเท็กซัส และอีกชิ้นในวิสคอนซิน) และสิงคโปร์

พบว่างานวิจัยทั้ง 3 ชิ้น มีสาระที่น่าสนใจคล้ายกันคือ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้านั้น ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนมา หรือยังไม่ได้รับวัคซีน ปริมาณไวรัสที่ตรวจพบไม่ได้แตกต่างกัน 

จากผลการศึกษาดังกล่าว จึงมีนัยยะที่จะทำให้เราเข้าใจได้ว่า หากมีการติดเชื้อจากสายพันธุ์นี้เกิดขึ้น แม้เราจะได้รับวัคซีนมาแล้ว ก็ยังสามารถเป็นพาหะแพร่ไปให้กับคนอื่นภายในบ้าน ที่ทำงาน หรือสังคมได้ เพราะมีปริมาณไวรัสที่ไม่ได้ต่างจากคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน  ดังนั้นการป้องกันตัวจึงสำคัญมากๆ ทั้งในเรื่องการใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างๆ เจอคนน้อยลงสั้นลง ตราบใดที่การระบาดยังกระจายไปทั่ว และยังมีความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยจากสิงคโปร์ชี้ให้เห็นว่า คนที่ได้รับวัคซีนไปนั้นจะช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยรุนแรงจนต้องใช้ออกซิเจน ไปได้ถึง 93% ถือว่าตอกย้ำให้เราทราบว่า การฉีดวัคซีนนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่ง ขอให้พวกเรามีกำลังกายกำลังใจป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด มุ่งเป้าให้เราและครอบครัวไม่ติดเชื้อใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก ด้วยรักและห่วงใย"


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง