TNN online "เวียดนาม" ล็อกดาวน์ 16 จังหวัดภาคใต้ "อินโดฯ" ต่อเวลาล็อกดาวน์ หลังยอดติดโควิดพุ่ง

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

"เวียดนาม" ล็อกดาวน์ 16 จังหวัดภาคใต้ "อินโดฯ" ต่อเวลาล็อกดาวน์ หลังยอดติดโควิดพุ่ง

เวียดนาม ล็อกดาวน์ 16 จังหวัดภาคใต้ อินโดฯ ต่อเวลาล็อกดาวน์ หลังยอดติดโควิดพุ่ง

"เวียดนาม" ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ 16 จังหวัดภาคใต้นาน 14 วัน จากวันจันทร์นี้ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวัน พุ่งทำสถิติสูงสุด ขณะที่ "อินโดนีเซีย" เตรียมขยายล็อกดาวน์หลังติดเชื้อโควิดพุ่งไม่หยุด

วันนี้ (18 ก.ค.64) รัฐบาลเวียดนามแถลงในเมื่อวานนี้ว่า เวียดนามจะใช้มาตรการล็อกดาวน์คุมเข้มการเดินทางใน 16 จังหวัดภาคใต้ของประเทศนาน 2 สัปดาห์นับจากวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคมนี้ ขณะที่ประเทศเผชิญหน้ากับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งเลวร้ายที่สุดในขณะนี้ โดยก่อนหน้านี้ เวียดนามสามารถบริหารจัดการควบคุมการระบาดของไวรัสไว้ได้ในระดับต่ำ เนื่องจากพุ่งเป้าตรวจหาเชื้อครั้งใหญ่ในหมู่ประชาชนและติดตามกลุ่มเสี่ยงอย่างเข้มข้น, ควบคุมพรมแดนและใช้มาตรการกักตัว แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ พบผู้ติดเชื้อคลัสเตอร์ใหม่หลายกลุ่ม จุดชนวนให้เกิดความวิตกกังวลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 

รัฐบาลเวียดนาม แถลงว่า การระบาดรอบปัจจุบันที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่นี้ มีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น การใช้มาตรการคุมเข้มจะปกป้องคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

ทั้งนี้ เวียดนามรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ อยู่ที่ 3,718 ราย เป็นการติดเชื้อรายวันสูงสุดและสูงเกิน 3,000 รายติดต่อกันเป็นวันที่ 3 แล้ว โดยจำนวน 3 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อ พบในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนครโฮจิมินห์ซิตี้ และกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ได้ส่งบุคลากรทางการแพทย์อย่างน้อย 10,000 คน ไปยังจังหวัดที่มีการระบาดอย่างหนักแล้ว

เวียดนาม ซึ่งมีประชากร 98 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศ 47,904 ราย และเสียชีวิต 225 ราย การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อล่าสุดนี้ เพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาล ให้ต้องจัดหาวัคซีนและเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีผู้ฉีดวัคซีนครบแล้วไม่ถึง 3 แสนคน

อย่างไรก็ตาม เวียดนามเพิ่งได้รับวัคซีนโควิดเกือบ 9 ล้านโดส และสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงฮานอย แถลงว่า สหรัฐฯจะจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นา ให้เวียดนามเพิ่มอีก 3 ล้านโดสผ่านโครงการแบ่งปันวัคซีนระหว่างประเทศ “โคแวกซ์” (COVAX) 

เวียดนาม ล็อกดาวน์ 16 จังหวัดภาคใต้ อินโดฯ ต่อเวลาล็อกดาวน์ หลังยอดติดโควิดพุ่ง

ด้าน อินโดนีเซียเตรียมขยายมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมไวรัสโควิด-19 อีก ขณะนี้ กำลังประเมินสถานการณ์ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงต่อเนื่อง โดย ลูฮัต ปันด์ไจตัน รัฐมนตรีกระทรวงการเดินเรือและการลงทุนของอินโดนีเซีย แถลงเมื่อวานนี้ว่า อินโดนีเซียกำลังพิจารณาว่า จะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามแผนหรือไม่ หรือจะขยายออกไปอีก ขณะประเทศกำลังต่อสู้กับการพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และปัญหาเศรษฐกิจ โดยมาตรการควบคุมการเคลื่อนไหว ซึ่งรวมทั้งการปิดห้างสรรพสินค้าและคำสั่งทำงานที่บ้าน หรือ Work from home สำหรับพนักงานบนเกาะชวา บาหลี และอีก 15 เมืองทั่วประเทศมีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้

"การเคลื่อนไหวที่น้อยลงไม่ได้บ่งชี้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง เรากำลังประเมินว่า จำเป็นต้องขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีกหรือไม่ รัฐบาลจะประกาศการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอีกไม่กี่วันนี้" ลูฮัต ปันด์ไจตัน กล่าว

อินโดนีเซีย ซึ่งเผชิญหน้ากับการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงกว่าทุกประเทศในโลก จากข้อมูลเฉลี่ย 7 วันล่าสุด และเป็นอันดับ 2 รองจากบราซิลเท่านั้น ในแง่ของจำนวนผู้เสียชีวิต โดยเมื่อวานนี้ อินโดนีเซียมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 51,952 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 1,092 ราย อัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ ที่ 6% จากจำนวนประชากรของประเทศ 270 ล้านคน  

"ต้องขอโทษชาวอินโดนีเซียทุกคนจากก้นบึ้งของหัวใจ หากนโยบายของรัฐบาลไม่เหมาะสม" ปันด์ไจตัน กล่าว

เวียดนาม ล็อกดาวน์ 16 จังหวัดภาคใต้ อินโดฯ ต่อเวลาล็อกดาวน์ หลังยอดติดโควิดพุ่ง

ส่วนเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงต้นเดือนนี้ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการล็อกดาวน์ โดยศรี มุลยานี รัฐมนตรีคลัง แถลงข่าวว่า อินโดนีเซียจะขยายงบประมาณฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบจากโควิด เป็น 744.74 ล้านล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 51,380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิม 699.43 ล้านล้านรูเปียห์ 

ขณะที่ อินโดนีเซียรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดทำสถิติสูงสุดในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ระบุว่า อินโดนีเซียกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโควิดแห่งใหม่ในภูมิภาคเอเชีย การให้บริการสาธารณสุขในประเทศ เกินจะรับมือไหว และมีเสียงเรียกร้องให้ช่วยประชาชนหาเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือถังออกซิเจน แชร์ในโซเชียล มีเดียอย่างแพร่หลาย ขณะที่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง