TNN online WHO ยัน วัคซีนโควิดที่อนุมัติ ป้องกันความรุนแรงจาก "เดลตา" ได้

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

WHO ยัน วัคซีนโควิดที่อนุมัติ ป้องกันความรุนแรงจาก "เดลตา" ได้

WHO ยัน วัคซีนโควิดที่อนุมัติ ป้องกันความรุนแรงจาก เดลตา ได้

WHO ยืนยัน "วัคซีนโควิด" ทุกชนิดที่อนุมัติป้องกันความรุนแรงจาก "สายพันธุ์เดลตา" ได้ พร้อมแนะผู้ที่มีประวัติอาการเส้นเลือดฝอยรั่ว หลีกเลี่ยงการฉีดของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

วันนี้( 10 ก.ค.64) ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวถึงเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา หรือ สายพันธุ์อินเดีย ว่า เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลสายพันธุ์ที่ 4 ที่องค์การอนามัยโลกได้ระบุไว้ 

เนื่องจากแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และยังสามารถต้านแอนติบอดี หรือ ภูมิคุ้มกันด้วย ทั้งนี้ ยืนยันว่า วัคซีนทั้งหมดที่องค์การอนามัยโลกอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน สามารถป้องกันอาการรุนแรง การเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตที่เกิดจากสายพันธุ์เดลตาได้ จากผลการศึกษาในประเทศที่มีการระบาด แสดงให้เห็นว่าคนที่ได้รับวัคซีนแล้วมีแนวโน้มต่ำที่จะเข้าโรงพยาบาลและต้องได้รับวัคซีนครบ2โดสด้วย เพื่อให้ได้ภูมิคุ้มกันสายพันธุ์เดลตาอย่างเต็มที่ 

ด้านนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยในวันนี้ว่า สหภาพยุโรป หรือ อียู ได้บรรลุเป้าหมายในการส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิดที่เพียงพอให้กับประชาชนวัยผู้ใหญ่ร้อยละ 70 แล้วภายในเดือนนี้ และวันพรุ่งนี้วัคซีนราว 500 ล้านโดสจะถูกแจกจ่ายให้กับภูมิภาคทั้งหมดของยุโรป นางเลเยน กล่าวว่า รัฐบาล 27 ชาติในอียู มีความรับผิดชอบในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และบางประเทศดำเนินการได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆอย่างมาก ทั้งนี้ อียูมีประชากรวัยผู้ใหญ่ประมาณ 366 ล้านคน

สำนักงานยายุโรป หรือ อีเอ็มเอ (EMA) แถลงว่า พบความเชื่อมโยงที่มีความเป็นไปได้ระหว่างการเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดขึ้นได้ยาก กับวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา และแนะนำประชาชนที่มีประวัติการป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับเลือด ให้หลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันด้วย ทั้งนี้ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเหยื่อบุหัวใจอักเสบ ต้องถูกระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่เกิดจากผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีน mRNA ทั้งสองชนิด กรณีเช่นนี้ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากฉีดวัคซีนและมักเกิดขึ้นหลังจากฉีดเข็มที่ 2 และเกิดในกลุ่มวัยรุ่นชาย ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐฯเมื่อเดือนที่แล้ว นอกจากนี้ยังแนะนำให้ประชาชนที่มีประวัติเกิดอาการเส้นเลือดฝอยรั่ว ต้องไม่ฉีดวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวที่ใช้ฉีดเข็มเดียว 

กระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ (PHE) เปิดเผยว่า จากการศึกษาประชาชนกลุ่มเสี่ยงจำนวน 1 ล้านคน พบว่า วัคซีนของไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดแบบมีอาการในกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง โดยประสิทธิภาพของวัคซีนโดยรวมทั้งของไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้าในการป้องกันโควิด ในกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุแตกต่างกันเล็กน้อยนั้นอยู่ที่ราวร้อยละ 60 หลังฉีดโดสแรก

ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 81 หลังฉีดโดสที่สองในประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ 16-64 ปี แต่ยังไม่มีข้อมูลของผู้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในช่วงอายุดังกล่าว 

ส่วนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุมากกว่า 64 ปีขึ้นไปนั้นพบว่า หลังการฉีดโดสที่สอง วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพร้อยละ 89 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพร้อยละ 80

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง