TNN online จับตา "โควิดสายพันธุ์เดลต้า" หลังพบคนไข้ รพ.แห่งหนึ่งในกทม.ติดเชื้อ 10 ราย

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

จับตา "โควิดสายพันธุ์เดลต้า" หลังพบคนไข้ รพ.แห่งหนึ่งในกทม.ติดเชื้อ 10 ราย

จับตา โควิดสายพันธุ์เดลต้า หลังพบคนไข้ รพ.แห่งหนึ่งในกทม.ติดเชื้อ 10 ราย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ในประเทศไทย ปัจจุบันไทยยังพบการระบาดของสายพันธุ์อัลฟ่ามากที่สุด ส่วนสายพันธุ์เดลต้าปัจจุบันพบทั้งหมด 496 คน กระจายอยู่ใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ ล่าสุดจับตา รพ.แห่งหนึ่ง ใน กทม.หลังพบว่าจากการสุ่มตรวจคนไข้ พบ 10 รายเป็นสายพันธุ์เดลต้า

วันนี้ (16 มิ.ย.64) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ ระบุถึงความคืบหน้า จากการเฝ้าระวังกายกลายพันธุ์ของเชื้อวิด-19 ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง 13 มิถุนายน ซึ่งการเก็บตัวอย่างผู้ติดเชื้อในเดือนเมษายน 5,000 กว่าราย ปัจจุบันยังพบเชื้อโควิดที่ระบาดในไทยมากที่สุดยังคงเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า  

สำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ พบว่า อัตราการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า หรือ สายพันธุ์อินเดีย 2 เพิ่มขึ้นในหลายจังหวัดกว่า 20 จังหวัด ทั้งหมดยังเชื่อมโยงกับพื้นที่แรกที่พบ คือ จากกลุ่มคนงานที่แคมป์คนงานหลักสี่ กทม. ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด พบเพิ่มในจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครนายก ชลบุรี จันทบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุดรธานี สกลนคร บุรีรัมย์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี ปทุมธานี และพะเยา โดยพบเพิ่มจังหวัดละ 1-2 ราย   

ข้อมูลจากการตรวจแยกสายพันธุ์ในรอบการระบาดเดือนเมษายน ที่มีการสุ่มตรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 5,500 ราย พบ 4,528 ราย เป็นสายพันธุ์อัลฟ่า หรือสายพันธุ์อังกฤษ คิดเป็นร้อยละ 89.6 ส่วนสายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดีย พบจำนวน 496 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.6 และ สายพันธุ์เบตา หรือสายพันธุ์แอฟริกา พบ 31 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.6 

นอกจากนี้ ยังพบรายงานคลัสเตอร์ใหม่ สายพันธุ์อินเดียในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยข้อมูลพบว่ามีกลุ่มผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 10 ราย เป็นกลุ่มคนไข้ที่เข้ารับการรักษาตัว แต่ยังต้องรอข้อมูลการสอบสวนโรคอีกครั้ง ว่าจะมีมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์เดิม คือ แคมป์คนงานหลักสี่หรือไม่ 

นพ.ศุภกิจ ยังได้คาดการณ์สถาการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย โดยระบุว่า สายพันธุ์เดลตาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเหมือนสายพันธุ์อัลฟ่า คาดการณ์อีก 2-3 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์อัลฟ่าจะมีความใกล้เคียงกัน ซึ่งต้องจับตามองและเฝ้าระวังว่าจะมีผลต่อเรื่องการเสียชีวิต และมีผลต่อวัคซีนมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่า ขณะนี้สายพันธุ์เดลต้ามีความไวในการแพร่ระบาดมากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าถึง 40% โดยสายพันธุ์เดลต้าในไทยขณะนี้ ถือว่ายังทรงตัว แต่ก็ได้เฝ้าระวัง และหากพบว่ามีอัตราการแพร่ระบาดสูง เช่น จากสัปดาห์ละ 9% เป็น 12-15% อาจต้องมีการพิจารณาแนวทางการขยับระยะห่างการรับวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 แต่ตอนนี้โควิดสายพันธุ์ใดก็ตาม วัคซีนช่วยได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งการฉีดวัคซีนตอนนี้ยังเป็นสิ่งจำเป็น 

นพ.ศุภกิจ ย้ำการตรวจสายพันธุ์ไม่จำเป็นต้องทำทุกราย แต่จะตรวจในกลุ่มที่เฝ้าระวังโดยเฉพาะ เช่น กลุ่มที่มีอาการรุนแรง กลุ่มคลัสเตอร์ระบาดกลุ่มก้อน หรืออยู่ในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อนแล้วพบการแพร่ระบาด การเฝ้าระวังตามชายแดน รวมถึงกรณีเคสที่รับวัคซีนแล้วพบการติดเชื้อ 

ทั้งนี้ หลังจากผลตรวจสายพันธุ์ออกมา จะทำการแจ้งผลกลับไปยังพื้นที่นั้น เพื่อดำเนินการควบคุมสอบสวนโรคต่อไป 

โดยตอนนี้กรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังได้ดำเนินการ ตรวจภาวะภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีนครบ 2 เข็ม ในกลุ่มอาสาสมัคร 200 คน โดยจะเป็นวิธีเอาเลือดหรือซีรั่ม มาสู้กับเชื้อจริง แล้วนับจำนวนในการฆ่าเชื้อ พบว่า ซิโนแวคครบ 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันขึ้นเต็มที่ สามารถป้องกันโรคได้ในสายพันธุ์ในปัจจุบัน ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ระหว่างรอผล รวมถึงกำลังตรวจภูมิในสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์เบต้า แต่จำนวนการพบเชื้อยังน้อยอยู่ 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังระบุถึงการตรวจภูมิหลังรับวัคซีนด้วย Rapid test ว่า ไม่แนะนำให้ตรวจ เพราะเป็นการตรวจที่ผิดวิธีและผลอาจจะคลาดเคลื่อน รวมถึงไม่ได้บ่งบอกว่าวัคซีนจะสร้างภูมิได้มากแค่ไหน ซึ่งวิธีมาตรฐาน คือ การใช้น้ำเลือดมาตรวจเชื้อจริงว่าฆ่าเชื้อจริงได้หรือไม่ ซึ่งค่าตรวจภูมิที่ได้มาตรฐานค่อนข้างสูง อยู่ที่ 5,000-7,000 บาท แต่หากสนใจ สามารถเข้าร่วมโครงการวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง