TNN online อังกฤษไม่เสี่ยง เลื่อนคลายล็อกดาวน์อีก 1 เดือน หวั่นโควิดระบาดซ้ำ

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

อังกฤษไม่เสี่ยง เลื่อนคลายล็อกดาวน์อีก 1 เดือน หวั่นโควิดระบาดซ้ำ

อังกฤษไม่เสี่ยง เลื่อนคลายล็อกดาวน์อีก 1 เดือน หวั่นโควิดระบาดซ้ำ

อังกฤษเลื่อนคลายล็อกดาวน์ออกไปอีก 4 สัปดาห์ หลังจากเดือนมิถุนายน โควิด-19 ระบาด ไม่หยุด จากเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ขณะที่ องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป ยืนยันวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพและประโยชน์ต่อผู้ได้รับวัคซีนมากกว่าความเสี่ยงในทุกกลุ่มอายุ และโดยเฉพาะยิ่งในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป

วันนี้ (14 มิ.ย.64) รัฐบาลอังกฤษ ลงนามคำสั่งเลื่อนปลดล็อกดาวน์ออกไปอีก 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ตามปกติที่กำหนดเอาไว้ที่ 21 มิ.ย. ซึ่งก็คือวันจันทร์หน้านี้ ส่งผลให้ไนท์คลับและสถานบันเทิงต่างๆ จะยังคงปิดทำการ และประชาชนคนทำงานยังคงต้องทำงานจากที่บ้าน

แหล่งข่าวรัฐบาลอังกฤษ เปิดเผยกับสำนักข่าว BBC ว่า อังกฤษจะเลื่อนการเปิดเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ ออกไปก่อนอย่างน้อย 4 สัปดาห์ เพื่อดูสถานการณ์ โดยในระยะเวลา 4 สัปดาห์นี้ มาตรการ และกฎต่าง ๆ ที่บังคับใช้ในตอนนี้จะมีต่อไป ได้แก่  ไนท์คลับ ปิดทำการ ประชาชนยังต้องทำงานจากบ้านให้มากที่สุด โดยคาดว่านายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน จะมีการแถลงการเลื่อนการเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งภายในวันนี้ ตามเวลาท้องถิ่น

แท้จริงแล้ว "อังกฤษ" มีกำหนดเปิดเศรษฐกิจในระยะที่ 4  ตามโร้ดแม็พของรัฐบาล ในการสิ้นสุดการล็อกดาวน์ในวันที่ 21 มิ.ย. หรือวันจันทร์หน้านี้แล้ว โดยข้อกำหนดต่างๆ และการสั่งให้เว้นระยะห่างจะสิ้นสุดลง

แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากได้เรียกร้องมานานนับสัปดาห์แล้วว่า ให้เลื่อนการเปิดเศรษฐกิจออกไปก่อน เพื่อฉีดวัคซีนประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการ "ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2" ที่จะได้ป้องกันเชื้อไวรัสได้มากขึ้น ท่ามกลางการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า สายพันธุ์ที่พบในประเทศอินเดีย

เมื่อวันอาทิตย์ รัฐมนตรีต่างประเทศ โดมินิก ร้าบ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ต้องการเห็นเอฟเฟก "โยโย่" เกิดขึ้น และการไร้ซึ่งมาตรการควบคุม แต่การตัดสินใจเลื่อนการยุติการล็อกดาวน์ออกไปขึ้นอยู่กับ ความเชื่อมโยงระหว่าง "การติดเชื้อรายใหม่" และ "การรักษาตัวในโรงพยาบาล" ว่าจะร้ายแรงเพียงใด 

ร้าบ ยังระบุด้วยว่า หลายประเทศกำลังใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการรักษาอิทธิพล แต่อังกฤษจะไม่สนับสนุนให้ทำสิ่งที่เรียกว่า "วัคซีนการทูต" เด็ดขาด 

ทั้งนี้ สำหรับภายใต้การผ่อนคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 4 นี้ ร้านค้า และงานอีเวนต์ต่าง ๆ จะสามารถกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง โดยไม่ต้องจำกัดจำนวนคน เช่นเดียวกับงานแต่งงาน แต่แม้จะผ่อนคลายกฎข้อบังคับต่าง ๆ เหล่านี้ การสวมหน้ากากอนามัย และการเว้นระยะห่างทางสังคมจะยังคงต้องมีอยู่ต่อไป 

จากสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหราชอาณาจักร ล่าสุดรายวันพบราว 7-8 พันคน มาร่วมสัปดาห์แล้ว มากขึ้นถึง 49% จากสัปดาห์ก่อนหน้า อีกทั้งมากขึ้นกว่าช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่พบราว 2,000 คนต่อวัน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า หากอัตราการติดเชื้อยังเป็นเช่นนี้ 21 มิถุนายน อาจพบผู้ติดเชื้อรายวันสูงถึง 15,000 คน ก็เป็นได้  หรือหากในกรณีเลวร้าย อาจพบจำนวนผู้ติดเชื้อเท่ากับช่วงเดือนมกราคม คือราว 5-6 หมื่นคนในปลายเดือนกรกฎาคมนี้

ในขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้น พบว่า 90% ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามันสามารถแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า ราว 40-60% .. อีกทั้งยังพบว่าทำให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลมากเป็น 2 เท่าตัวอีกด้วย 

ศาสตราจารย์ แอนดรูว์ เฮย์วอร์ด จาก University College London และเป็น 1 ในสมาชิกทีมที่ปรึกษาโรคระบาดของรัฐบาล ระบุว่า การผ่อนคลายการควบคุมนั้น จะยิ่งเป็น "การเป่าลมเข้าไปในกองเพลิง" ที่ทำให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้น 

สำหรับปัจจุบัน ประชาชน 41 ล้านคนในสหราชอาณาจักร ได้รับวัคซีนโดสแรกแล้ว และราว 30 ล้านคน ได้รับครบ 2 โดสแล้ว

โดยรัฐบาลได้ตั้ง 4 ธงเอาไว้ ก่อนที่จะผ่อนคลายมาตรการใดๆ จะต้องมีทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

- การฉีดวัคซีนเป็นไปด้วยดี

- มีหลักฐานบ่งชี้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการลดการรักษาตัวในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตลง

- อัตราการติดเชื้อ ไม่ไปเป็นภาระของโรงพยาบาล 

- การประเมินความเสี่ยงใดๆ จะต้องไม่ถูกเปลี่ยนแปลงจากไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล 

ด้าน มาร์โก คาวาเลรี หัวหน้าคณะทำงานด้านความปลอดภัยวัคซีนขององค์การยาแห่งสหภาพยุโรป หรือ (EMA) กล่าวถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ว่า เป็นวัคซีนที่มี "ประสิทธิภาพมากกว่าความเสี่ยงในการเกิดอาการข้างเคียง" กับทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 

อย่างไรก็ตาม หลายชาติสมาชิกของสหภาพยุโรป หรือ EU หยุดฉีดวัคซีนตัวนี้ให้กับประชาชนในบางกลุ่มอายุ จำกัดการใช้เฉพาะกับคนสูงวัย สืบเนื่องจากพบเคสผู้ป่วยลิ่มเลือดอุตันซึ่งเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่พบในกลุ่มคนหนุ่มสาว

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง