TNN online อังกฤษเฮ! ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19เป็นศูนย์ครั้งแรก

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

อังกฤษเฮ! ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19เป็นศูนย์ครั้งแรก

อังกฤษเฮ! ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19เป็นศูนย์ครั้งแรก

สหราชอาณาจักรประกาศผู้เสียชีวิตรายใหม่จากโควิด-19มีตัวเลขเป็นศูนย์ครั้งแรกหลังจากการระบาดเมื่อปีที่แล้ว

สหราชอาณาจักรประกาศว่ามีผู้เสียชีวิตรายใหม่จากโควิด-19  เป็นศูนย์ครั้งแรก นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว 

นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกคนรอคอย แม้ว่าเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้าที่พบครั้งแรกในอินเดียจะแพร่ระบาดไปทั่วสหราชอาณาจักรก็ตาม

ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์-

แมทท์ แฮนค็อก รัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษ ระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า ทั้งประเทศยินดีมากที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากโควิดเมื่อวานนี้ พร้อมกล่าวด้วยว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม BBC ระบุว่า ตัวนี้เลขอาจคลาดเคลื่อนได้ เพราะรายงานผู้เสียชีวิตรายวันมักจะลดลงในช่วงสุดสัปดาห์และต้นสัปดาห์ เนื่องจากผู้ที่ดูแลด้านสถิติหยุดงาน และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาก็เป็นวันหยุดธนาคาร ดังนั้นการไม่ได้ประกาศยอดผู้เสียชีวิตในวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้นจริง และบ่อยครั้งก็จะมีการแก้ไขตัวเลข เมื่อมีการตรวจสอบใบมรณะบัตรที่ระบุวันเสียชีวิตอย่างแน่ชัด

แต่ถึงอย่างนั้น ก็นับว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิดระลอกสอง เมื่อจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันลดลงจากตัวเลขหลักพัน 

-ยอดติดเชื้อ-เข้ารพลดลงอย่างต่อเนื่อง-

ช่วงต้นปีนี้ เป็นช่วงที่ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิดในสหราชอาณาจักรพุ่งขึ้นสูงสุด เพราะมีการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ที่พบในเมืองเคนต์ ที่แพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าเดิม

แต่ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิต จำนวนคนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการติดเชื้อโควิดลดลงอย่างต่อเนื่องไปในทิศทางที่ถูกต้อง ขณะที่จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดเข็มแรกและเข็มที่สองมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ตัวอย่าง เช่น ในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม มีผู้ติดเชื้อโควิดประมาณ 59,660 คนขณะที่ตัวเลขเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมมีจำนวน 2,270 คน

ช่วงกลางเดือนมราคม มีผู้ป่วยโควิดที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 38,411 คน  ขณะที่กลางเดือนพฤษภาคม ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 1,200 คน 

อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางคนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และมีบางคนเสียชีวิต ขณะที่ในบางพื้นที่โควิดสายพันธุเดลต้า ที่มาจากอินเดียก็ทำให้ยอดผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลกลับมาอีกครั้ง

-การรักษาที่ดีขึ้น แนวโน้มที่ดีขึ้น-

เมื่อพูดถึงผู้เสียชีวิต ในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยสำหรับผู้ที่มีผลตรวจ โควิดเป็นบวกและเสียชีวิตภายใน 28 วันของการทดสอบนี้ คือ 1,248 คน

เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยรายวันในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ที่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพียง 12 ราย นับว่าเป็นการลดลงครั้งใหญ่ เนื่องมากจากการล็อกดาวน์ การฉีดวัคซีนต้านวิดที่แจกจ่ายไปแล้ว  64.9 ล้านโดส และมีผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว 38.3%  ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น  และการรักษาที่ดีขึ้น ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลง

ข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ ล่าสุดสหราชอาณาจักรมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิดสะสม อยู่ที่ 127,782 คน และสูงสุดเป็นอันดับ 5 ของโลก ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 3,165 คน ลดลงอย่างมากจากเมื่อวันก่อน

-ผู้เชี่ยวชาญเตือน เข้าสู่การระบาดระลอก 3 –

แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหราชอาณาจักรจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าสหราชอาณาจักรกำลังเข้าสู่ระยะแรกของการระบาดของโควิด-19 รอบที่สาม และเรียกร้องรัฐบาลอย่าเพิ่งคลายการล็อกดาวน์ในเดือนนี้

ศาสตราจารย์ราวี คุบตา จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า การยุติมาตรการล็อกดาวน์ในอังฤษ วันที่ 21 มิถุนายนนี้ ควรเลื่อนออกไปก่อน เพราะแม้ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังต่ำ แต่ไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในอินเดีย กำลังทำให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยสามในสี่ของผู้ติดเชื้อแล้ว

พร้อมกับระบุว่า แม้ตัวเลขในตอนนี้ยังต่ำ แต่การระบาดทุกรอบ ก็เริ่มต้นจากยอดติดเชื้อที่ต่ำและระเบิดออกมาภายหลัง การที่คนจำนวนมากได้รับวัคซีนแล้ว นั่นหมายความว่า การระบาดระลอกใหม่นี้ จะใช้เวลายาวนานกว่ารอบอื่นในการระเบิด ซึ่งสิ่งที่เขากังวลคือ การที่ผู้คนมีความรู้สึกว่าปลอดภัยแล้วแบบผิดๆ

เขาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนนี้ออกไปก่อนอีกไม่กี่สัปดาห์เพื่อรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจน

ด้านศาสตราจารย์อดัม ฟินนท์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วม ในโครงการวัคซีนแห่งชาติ กล่าวกับ BBC Radio 4 ว่า ทั่วสหราชอาณาจักรยังคงเปราะบาง การคิดว่างานเราเสร็จแล้วนั้นผิด เพราะยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้นการรีบผ่อนคลายการล็อกดาวน์ในวันที่ 21 เดือนนี้ตามแผนการ อาจทำให้สถานการณ์พลิก

ด้าน ดรชาด นัคพอล ประธานสภาสมาคมการแพทย์แห่งอังกฤษ กล่าวว่า สหราชอาณาจักรอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการต่อสู้กับเชื้อไวรัส การรีบผ่อนคลายการล็อกดาวน์ก่อนเวลาอันควร จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อบริการสาธารณสุขในการแก้ปัญหาคนไข้ที่คั่งค้างจำนวนมหาศาล ยังไม่รวมปัญหาของบุคลากรที่เหนื่อยล้าทั้งกายและใจ

ทั้งนี้ จนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีคนไข้เกือบสี่ล้านคนที่รอการผ่าตัด ถือเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของประเทศ นอกจากนี้ตัวเลขของ NHS หรือระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ ยังพบว่า มีประชาชนมากกว่า 436,000 คน ที่รอคิวผ่าตัดมามากกว่าหนึ่งปีแล้ว เทียบกับก่อนเกิดสถานการณ์ระบาด มีคนไข้รอการผ่าตัดเพียง 1,600 คนเท่านั้น 

-ภาคธุรกิจค้านเลื่อนผ่อนคลายล็อกดาวน์ ชี้เผชิญหายนะแล้ว-

อย่างไร ก็ตาม ภาคธุรกิจมองสวนทางกับผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข โดย เคท นิโคลส์ ผู้บริหารของ UK Hospitality เตือนว่า อุตสาหกรรมการโรงแรมจะเผชิญกับหายนะ หากไม่สามารถกลับมาเปิดได้อย่างเต็มรูปแบบในเดือนนี้ 

ด้านประธานสมาคมการแสดงดนตรีสด กล่าวว่า ทั้งอุตสาหกรรมกำลังเตรียมพร้อมเพื่อกลับมาทำงานวันที่ 21 นี้แล้ว หลังต้องระงับธุรกิจมามากกว่าหนึ่งปี  ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทดลองจัดเทศกาลดนตรีไปแล้ว และสามารถดำเนินการได้อย่างปลอดภัย จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องปิดต่ออีก

ขณะที่ โรเบิร์ต ดิงวอลล์ ศาสตรจารย์ด้านสังคมวิทยาจาก Nottingham Trent University มองว่ารัฐบาลควรจะเดินหน้าผ่อนคลายตามกำหนด เพราะ หากมองในแง่สังคมวิทยา การเดินหน้าคลายล็อกดาวน์วันที่ 21 นี้สำคัญมาก เราต้องตระหนักถึงความกลัวและความกังวลของผู้คนตลอดช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีความเสียหายที่ควบคู่กันอยู่ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่หรือโรคหัวใจที่ยังไม่ได้รับการรักษา ซึ่งยังมีอีกหลายอย่างที่ผู้คนกำลังทนทุกข์อยู่

-  พัฒนาวัคซีนสู้ไวรัสกลายพันธุ์-

ท่ามกลางการถกเถียงระหว่างผู้เชี่ยวชาญว่าควรจะเลื่อนการผ่อนคลายล็อกดาวน์ออกไปก่อนดีหรือไม่  ล่าสุดมีรายงานว่า รัฐบาลอังกฤษกำลังเจรจากับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตราเซเนกา (Oxford-AstraZeneca) ให้ปรับปรุงประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19เน้นการป้องกันโควิดกลายพันธุ์ “เบตา” (beta) หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้เป็นกรณีพิเศษ และรัฐบาลจะสนับสนุนด้านการเงินในการทดลองฉีดวัคซีน 

ก่อนหน้านี้แอฟริกาใต้ ระงับการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังมีข้อมูลพบว่า สามารถป้องกันได้เล็กน้อยถึงปานกลางต่อเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ที่ระบาดในแอฟริกาใต้ ซึ่งขณะนี้ รู้จักกันในชื่อ “beta” ภายใต้ระบบการตั้งชื่อใหม่ขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO

บริษัทผู้ผลิตวัคซีน แอสตราเซเนกา ซึ่งก็ตั้งเป้าพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่เพื่อป้องกันไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เบตา ภายในฤดูใบไม้ร่วงนี้ ส่วนรัฐบาลอังกฤษให้คำมั่นสนับสนุนด้านการเงินในการทดลองวัคซีนที่ปรับปรุงขึ้นมาใหม่

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง