TNN online หมอยง อธิบายลิ่มเลือดแข็งตัวจากยาคุม กินแล้วห้ามฉีดวัคซีนจริงหรือ?

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

หมอยง อธิบายลิ่มเลือดแข็งตัวจากยาคุม กินแล้วห้ามฉีดวัคซีนจริงหรือ?

หมอยง อธิบายลิ่มเลือดแข็งตัวจากยาคุม กินแล้วห้ามฉีดวัคซีนจริงหรือ?

"หมอยง" โพสต์เฟซบุ๊ก อธิบายลิ่มเลือดแข็งตัวจากยาคุมกำเนิด กินแล้วห้ามฉีดวัคซีนจริงไหม?

วันนี้( 31 พ.ค.64) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับ โควิด-19 ว่า

"โควิด 19  วัคซีน เรื่องของฮอร์โมนเพศหญิง ยาคุมกำเนิด สตรีตั้งครรภ์ ยง ภู่วรวรรณ

ข้อมูลที่ให้ จะตามหลักวิชาการ รายละเอียดต่างๆ คงต้องรอราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงให้คำแนะนำ

ในเพศหญิงที่มีฮอร์โมนเพศหญิง หรือในยาคุมกำเนิด และในสตรีตั้งครรภ์ จะมีฮอร์โมนเพศหญิงสูงอยู่แล้ว และเป็นที่ทราบดีว่า เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือด

ในเส้นเลือดดำใหญ่ได้ (deep vein thrombosis, DVT) อุบัติการณ์ดังกล่าวในคนเอเชีย เกิดได้น้อยกว่าฝรั่งและชาวแอฟริกาอย่างมาก 

เวลาเรานั่งเครื่องบินท่านั่งอยู่กับที่นานๆ จะมีการแนะนำให้ขยับเท้าเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ เพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด แล้วเกิดลิ่มเลือด คนไทยเราไม่ค่อยเคยเห็น  แต่ในฝรั่งเกิดได้บ่อยกว่า

การแข็งตัวของเลือดที่เส้นเลือดดำใหญ่ DVTหรือ มีการพูดถึงฮอร์โมนเพศหญิง ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับ มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน ไม่เหมือนกันการเกิดลิ่มเลือด ที่พบในวัคซีน virus vector เช่น AStraZeneca, 

Johnson &Johnson ซึ่งการแข็งตัวเกิดลิ่มเลือดนั้นจะมี “ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ” ด้วย ที่เรียกกันว่า VITT เป็นคนละโรคกัน และการรักษาก็ต่างกันกับการรักษาในผู้ป่วยที่มีการแข็งตัวของเลือดที่เส้นเลือดดำใหญ่ DVT เพราะเหตุที่เกิดไม่เหมือนกัน

วัคซีน Sinovac เป็นเชื้อตาย คล้ายกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พิษสุนัขบ้า ตับอักเสบ เอ ที่เป็นเชื้อตายเช่นกัน รวมทั้งวัคซีนบาดทะยักก็เช่นเดียวกัน เป็นวัคซีนที่ใช้กันมานานมาก 

การฉีดวัคซีนต่างๆก็ไม่มีวัคซีนตัวไหน ที่แนะนำให้หยุดยาคุมกำเนิด รวมทั้งวัคซีน covid 19 ในปัจจุบัน ที่ฉีดไปแล้วทั่วโลกเกือบ 1,800 ล้าน dose  ที่ผ่านมา

ก็ไม่ได้มีการแนะนำให้หยุดยาคุมกำเนิดก่อนฉีดวัคซีน ชีวิตทุกอย่างต้องดำเนินไปอย่างปกติมากที่สุด ตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ 

อย่างไรก็ตามข้อมูลทั้งหมดคงต้องให้ทางราชวิทยาลัยสูติศาสตร์นรีเวชกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเป็นข้อแนะนำ จะดีที่สุด"


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง