TNN online 'อนุทิน' ย้ำชัด Walk in ฉีดวัคซีนท้ายสุด เน้นกลุ่มที่ลงทะเบียนในระบบก่อน

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

'อนุทิน' ย้ำชัด Walk in ฉีดวัคซีนท้ายสุด เน้นกลุ่มที่ลงทะเบียนในระบบก่อน

'อนุทิน' ย้ำชัด Walk in ฉีดวัคซีนท้ายสุด เน้นกลุ่มที่ลงทะเบียนในระบบก่อน

'อนุทิน' ย้ำชัด Walk in ท้ายสุด เน้นกลุ่มที่ลงทะเบียนในระบบก่อน แต่หากวัคซีนในแต่ละจุดให้บริการเหลือจะถูกจัดสรรให้หมด โดยกระทรวงสาธารณสุขจะไม่ยอมเก็บวัคซีนเข้าคลัง หากวัคซีนถูกกระจายไปยังจุดให้บริการแล้วต้องใช้ให้หมด

วันนี้ (19 พ.ค.64) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กรณีถึงการเปิดสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานที่ฉีดวัคซีน นั้น เนื่องมาจาก กระทรวงคมนาคมเป็นผู้เสนอ เพื่อขอให้ฉีดบุคลากร เจ้าหน้าที่ ที่กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ เช่น บุคลากรในภาคขนส่งสาธารณะ คนขับแท็กซี่ รถโดยสารประจำทางต่างๆ คนขับเรือ นักบิน รวมถึงเจ้าหน้าที่ด่านหน้าต่างๆ ที่ต้องทำงานตามสนามบิน ตามท่าเรือ

ในส่วนสถานีกลางบางซื่อ ไม่ใช่จุดให้บริการ walk in โดยเป็นสถานที่ที่มีผู้คนมาฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้กว่าหมื่นคน หรือเกือบแสนคน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ขอกระทรวงคมนาคม หากทำการฉีดวัคซีนให้กลุ่มคนเหล่านี้แล้ว ถ้าเป็นไปได้จะขอยืมสถานที่ สถานีกลางบางซื่อเป็นอีกหนึ่งศูนย์ในการบริการการฉีดวัคซีนกับประชาชน 

นายอนุทิน ยังยืนยันด้วยว่า กลุ่ม walk in ไม่มีทางได้รับวัคซีนก่อนผู้ที่ลงทะเบียนในระบบและนัดหมายไว้ ต้องยอมรับการ walk in มีสิทธิได้และไม่ได้วัคซีน ตนอาจจะพูดเร็วไปหน่อยในเรื่อง walk in แต่เพื่อให้เกิดความสบายใจ ขอให้เป็นประชาชนที่ลงทะเบียนรับนัดก่อน 

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยอมไม่ได้ที่จะให้วัคซีนเหลือในแต่ละจุดให้บริการ เนื่องจากวัคซีนเมื่อถูกนำออกไปแล้ว ต้องใช้ให้หมดจะถูกนำมาเก็บในคลังอีกไม่ได้ เพราะจะส่งผลต่อประสิทธิภาพ

ส่วนกรณีที่ทางนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ไม่ให้ใช้คำว่า "walk in" ให้เปลี่ยนมาใช้ "ออนไซด์" และลงทะเบียนหน้างานนั้น นายอนุทิน ระบุว่า ต้องดูว่าในแต่ละวันมีวัคซีนเหลือเท่าไร จะใช้คำว่าอะไรก็แล้วแต่ วัคซีนจะเหลือไม่ได้ กระทรวงสาธารณสุขส่งวัคซีนออกไปจ้องใช้ให้ครบทุกโดส ทิ้งไม่ได้

เช่น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า สามารถใช้ได้ มากกว่า 10 เข็มต่อขวด ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พยาบาลได้พยายามใช้อย่างคุ้มค่า ทุกคนใช้ถึง 12 เข็ม ต่อ 1 ขวด และต้องใช้เวลารวดเร็ว ต้องทำความเข้าใจว่า จะเอาเข็มกลับมาแช่ตู้เย็นไม่ได้ ต้องใช้ให้หมดในวันนั้น 

"walk in เป็นแผนสำรอง ซึ่งนายกรัฐมนตรี อาจจะขอดูการฉีดวัคซีนในระบบหลักก่อน คือ ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม หรือผู้ที่ลงทะเบียนตามระบบต่างๆ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข จะได้ทำรายงานในแต่ละวันมีคนนัดแล้วมากี่คน ไม่มากี่คน เหลือเท่าไร แต่ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องเรียนชี้แจ้งว่า วัคซีนโควิด เมื่อนำออกไปยังจุดต่างๆ แล้ว จะถูกนำมาเก็บในคลังอีกไม่ได้ ต้องใช้ให้หมด

เพราะฉะนั้นหากนัดมาฉีดแล้วไม่มา กระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่รับผิดชอบในการฉีดแต่ละพื้นที่ ต้องเตรียมแผนสำรองไว้ ต้องเกณฑ์มาฉีดให้หมด อันนั้นก็อาจจะเรียกว่า walk in ก็ได้ เพียงแต่เรายังไม่ได้ไปเริ่มว่าให้คนจะ walk in เข้ามาได้ ผมอาจจะพูดเร็วไป ดูแล้วว่าอาจจะปฏิบัติได้ แต่ก็ให้เกิดความสบายใจกับผู้ที่นัดไว้ก่อน" นายอนุทิน กล่าว

ส่วนการที่มีหน่วยงานเสนอ สถานที่ แล้วก็สามารถรวบรวมผู้คนมาฉีดได้ ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง  เช่น กลุ่มบริการสาธารณะ ต้องมาฉีดโรงพยาบาลหลัก จะทำให้เกิดความแออัด รับไม่ไหว หน่วยงานใดก็ตามที่มีพื้นที่เหมาะสมก็ยินดีรับให้เสนอมาเพื่อแบ่งเบาภาระต่างๆ 

นายอนุทิน ย้ำในระยะแรกของการฉีดวัคซีน ยังไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปก่อน เช่น กระทรวงคมนาคม ฉีดในพนักงานก่อน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะรีบจัดส่งวัคซีนมาให้ตามที่ขอมา เบื้องต้นกระทรวงคมนาคม จะใช้บุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงมาช่วยด้วยในการฉีดวัคซีน เช่น จากโรงพยาบาลรถไฟ ส่วนกระทรวงสาธารณสุข จะพยายามจัดหาพยาบาลมาช่วยให้ได้มากที่สุด 

ขณะที่ กรณีที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทำโมเดลให้กลุ่มคนที่อายุ 70 ปีขึ้นไป และคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตไม่เป็นเดินทางมาเพื่อที่รับวัคซีนหน้าจุดให้บริการนั้น นายอนุทิน ระบุว่า ให้เสนอมาที่ ศบค. วันนี้ตามกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉินฯ กระทรวงสาธาณรสุข พร้อมเป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางที่ศบค.ชี้แนะมา ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีได้พูดชัดเจนให้ฟัง ศบค.เป็นหลัก ซึ่งทางศบค. มีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เช่น ปลัดกระทรวงฯ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานกรรมการในชุดต่างๆ ส่วนตนก็เป็นประธาน ศบค.ชุดใหญ่ มีการทำงานตามความเป็นจริงอยู่แล้ว แนวทางต่างๆก็รับมาปฏิบัติ ตามที่ได้มีส่วนร่วมในการเสนอ 

ทั้งนี้ การทำงานมีการรวมศูนย์ที่ศบค.และทำการเคาะแนวทางออกมา เช่น ศบค. บอกว่า ต้องส่งวัคซีน ให้กทม. จำนวน 2 ล้านโดส กรมควบคุมโรค มีหน้าที่ในการจัดส่งให้ครบตามจำนวน ส่วนกทม.จะไปจัดสรรอย่างไร เป็นเรื่องการบริหารของกทม. เช่นเดียวกับ การส่งวัคซีนไปยังต่างจังหวัด ที่ศบค. จะเป็นผู้กำหนดในการส่งไปแต่ละจังหวัด จากนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จะเป็นผู้พิจารณาในการจัดสรรพื้นที่นั้นๆ

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขและประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการให้วัคซีนโควิด-19 ระบุว่า หากวัคซีนแต่ละจุดบริการเหลือไม่มีคนมารับบริการก็จะพยายามเรียกคนที่อยู่บริเวณใกล้ดูกลุ่มที่ walk in มาฉีด คงไม่เก็บวัคซีนไว้ข้ามวัน ตามปกติแล้ววัคซีนจะอยู่ได้ไม่เกิน 6 ชั่วโมง ถ้าดีที่สุดก็ 3 ชั่วโมง ซึ่งก็อยากให้เป็นไปตามมาตรฐาน 

"โดยเข็มที่ดูดจากขวดวัคซีนมาแล้ว เตรียมที่จะฉีดสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 6 ชั่วโมง หากเกิน 6 ชั่วโมงแล้วถือว่าไม่ดี แต่ส่วนใหญ่แล้วเมื่อดูดวัคซีนออกมาแล้วก็จะฉีดให้กับคนไข้เรื่อยๆ ซึ่งวัคซีน 1 ขวดต้องใช้ให้หมด วัคซีน 1 ขวด อย่างน้อยจะได้ 10 โดส ถ้าหากเปิดขวดวัคซีนไปแล้วคนที่จะมาฉีดไม่ถึง 10 คน ก็จะมีการสูญเสียของวัคซีน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในระบบการให้วัคซีนปกติ" นพ.โสภณ ระบุ



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง