TNN online สปสช.แจงแนวทางเบิกจ่ายค่ารักษาโควิด รพ.เอกชน

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

สปสช.แจงแนวทางเบิกจ่ายค่ารักษาโควิด รพ.เอกชน

สปสช.แจงแนวทางเบิกจ่ายค่ารักษาโควิด รพ.เอกชน

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ประชุมผ่านระบบออนไลน์ กับ รพ.เอกชนทั่วประเทศ เน้นย้ำถึงแนวทางการขอเบิกค่าใช้จ่ายตรวจรักษาโควิด-19 เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ป้องกันความสับสน

วันนี้ (19 พ.ค.64) นางเบญจมาศ เลิศชาคร ผู้อำนวยการสำนักบริหารการจัดสรรและชดเชยค่าบริการ สปสช. ชี้แจงกับตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน ว่า สปสช.รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโควิด-19 และครอบคลุมไปถึงการตรวจคัดกรอง ค่าตรวจในห้องปฏิบัติการรวมถึงค่าอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะดูแลเบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบหรือนอกระบบ

แต่การเบิกจ่ายต่างๆ ต้องอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งแบ่งรายการที่โรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายได้หลายรายการ เช่น ค่า Hospital Quarantine หรือ โรงพยาบาลกักตัวในกลุ่มเสี่ยงสูง สปสช.รับผิดชอบค่าตรวจห้องแล็ป ค่าดูแล วันละ 1,500 บาท จำนวน 14 วัน

ส่วนค่าฉีดวัคซีนที่รับการจัดสรรจากภาครัฐ จ่ายให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน แบบเหมาจ่ายครั้งละ 20 บาท กรณีหากมีผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษา สปสช.จะเป็นผู้ทำเรื่องไปยังกองทุนต่างๆที่รองรับผู้ป่วย เพื่อเบิกจ่ายค่ารักษาคืนกับโรงพยาบาล แต่ถ้าโรงพยาบาลเอกชนใดเป็นหน่วยบริการในระบบ สปสช.จะรับผิดชอบใน 2 ส่วน คือ กรณีผู้ป่วยนอก จ่ายค่าห้องแล็ป ค่าเก็บตัวอย่าง ค่ายา ค่าพาหนะ ค่าส่งต่อทั้งหมด ขณะที่ผู้ป่วยในหรือต้องแอดมิท หากรักษากับโรงพยาบาล จ่ายค่าห้องไม่เกิน 2,500 บาท ถ้าเป็นหอเฉพาะกิจ โรงพยาบาลสนาม hospital จ่าย 1,500 ต่อคืน รวมถึงรับผิดชอบค่าห้องแล็ป เก็บตัวอย่าง ค่ายา ค่าชุดPPE ค่าห้อง ค่าอาหาร

นอกจากนี้ สปสช.ยังรับผิดชอบค่าตรวจโควิดทางห้องปฏิบัติการแบบรวมตัวอย่าง หรือ Pooled sample (พูล แซมเปิ้ล) ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนมกราคม และแบ่งเป็น 2 แบบ คือ พูล ซาไลว่า (Pooled saliva) 5 กลุ่มตัวอย่างต่อหนึ่งครั้ง จ่ายค่าแล็ป 320 บาท/ครั้ง ค่าบริการอื่นๆที่เกี่ยวกับห้องแล็ป 100 บาท ค่าเก็บตัวอย่าง 40 บาท และแบบ พูล สว็อป (pool swap) 4 กลุ่มตัวอย่าง จ่ายค่าตรวจแล็ป 400 บาท ทำสวอป 100 บาท หากผลเป็นบวก ทำ RTPCR จ่าย 1,800 บาท/ครั้ง

อย่างไรก็ตาม การชี้แจงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรวจคัดกรอง รักษาผู้ป่วยโควิด-19 สปสช.เน้นย้ำ ว่า หากโรงพยาบาลใดได้รับการจ่าย หรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายการใดรายการหนึ่งจากงบประมาณของรัฐแล้ว ห้ามส่งข้อมูลมาขอเบิกซ้ำซ้อนกับ สปสช.อีก.


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง