TNN online สปสช.นัดประชุม "รพ.เอกชน" ทั่วประเทศ ย้ำห้ามเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วยโควิด-19

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

สปสช.นัดประชุม "รพ.เอกชน" ทั่วประเทศ ย้ำห้ามเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วยโควิด-19

สปสช.นัดประชุม รพ.เอกชน ทั่วประเทศ ย้ำห้ามเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วยโควิด-19

เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เตรียมจัดประชุมร่วมกับ “โรงพยาบาลเอกชน” ทั่วประเทศ ย้ำเรื่องการขอความร่วมมือไม่เรียกค่ารักษาจากผู้ป่วยโควิด-19 โดยให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช.

วันนี้ (18 พ.ค.64) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.เตรียมเชิญตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์โปรแกรม Zoom Meeting ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 นี้ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 3 แล้ว เพื่อชี้แจงแนวทางการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19

และกรณี UCEP โควิด-19 ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ อีกทั้งจะได้เน้นย้ำเรื่องการขอความร่วมมือไม่เรียกค่ารักษาจากผู้ป่วยโควิด-19 โดยให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช. สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขกำหนดค่าใช้จ่ายที่ได้มีการกำหนดไว้ สำหรับการประชุมในวันพรุ่งนี้ (19 พฤษภาคม 2564) จะครอบคลุมประเด็นการชี้แจงดังต่อไปนี้

1.เน้นย้ำประเด็นสำคัญ การขอรับค่าใช้จ่ายค่าตรวจคัดกรอง การตรวจทางห้องปฏิบัติ และบริการอื่นๆ กรณีโรคโควิด-19

2.ทำอย่างไรสถานพยาบาลจะพิสูจน์ตัวตนประชาชนผู้รับบริการผ่านระบบ Smart card โดยใช้บัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดได้อย่างสะดวก

3.ทำความรู้จักกับโปรแกรม e-Claim เพื่อบันทึกขอรับค่าใช้จ่ายการตรวจทางห้องปฏิบัติ และบริการอื่นๆ กรณีโรคโควิด-19

4.ค่าใช้จ่ายในสถานบริการเอกชน (UCEP-COVID) สำหรับการดูแลกรณีโรคโควิด-19

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สปสช.ได้มีการจัดประชุมในลักษณะดังกล่าวเป็นระยะๆอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาก็ยังมีการร้องเรียนเข้ามาที่สายด่วน 1330 ของ สปสช. และสายด่วน 1426 ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จำนวนหนึ่งว่ายังมีประชาชนที่มารับบริการเกี่ยวกับโควิด-19 ถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงิน ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้ว ส่วนหนึ่งที่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยเนื่องจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เช่น เกณฑ์การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ เดิมต้องให้มีอาการก่อนถึงจะตรวจ แต่ตอนนี้ให้แพทย์พิจารณาก็ตรวจได้แล้ว รวมทั้งในเรื่องรายการที่ไม่มีอยู่ในบัญชีค่าใช้จ่ายที่กำหนด ตามขั้นตอนคือแจ้งไปที่ สบส. เพื่อขอให้พิจารณาขยายรายการเพิ่มเติมแล้ว เป็นต้น

“ในบางกรณีก็มีการให้เหตุผลว่า สปสช.จ่ายเงินช้า จึงต้องเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยไว้ก่อน เมื่อเบิกจาก สปสช.ได้แล้วจึงจะคืนให้ผู้ป่วย ซึ่งเราได้ปรับรอบการจ่ายให้เร็วขึ้นแล้ว จาก 1 เดือนเป็นทุกๆ 2 สัปดาห์ แต่ยังมีส่วนน้อยที่เรียกเก็บเกินราคาที่กำหนด โดยให้ผู้ป่วยจ่ายส่วนที่เกินจากที่ สปสช. จ่ายให้ ซึ่งกรณีแบบนี้ก็ต้องย้ำเตือนและขอความร่วมมือให้เก็บค่าบริการตามที่กำหนด เพราะเป็นราคาที่ สปสช. สบส. และสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้ตกลงร่วมกันแล้ว และต้องไม่เก็บจากประชาชน แต่ให้มาเก็บที่ สปสช.แทน” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า เพื่อตอกย้ำให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ตรงกัน จึงได้มีการจัดประชุมในครั้งนี้ขึ้น และในอนาคตก็จะมีการประชุมลักษณะนี้ไปอีกเรื่อยๆ เพื่ออัพเดทหลักเกณฑ์กติกาต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ อีกทั้งจะได้เป็นช่องทางรับฟังข้อเสนอแนะจากโรงพยาบาลเอกชน เพื่อนำกลับมาปรับปรุงต่อไปในอนาคตด้วย

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง