TNN online ผลศึกษาใช้วัคซีนโควิด "แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์" ร่วมกัน เกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ผลศึกษาใช้วัคซีนโควิด "แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์" ร่วมกัน เกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น

ผลศึกษาใช้วัคซีนโควิด แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ ร่วมกัน เกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น

ผลการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด พบผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น หากฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)ในเข็มแรก และฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) ในเข็มที่ 2 หรือสลับกัน

วันนี้ (13 พ.ค.64)  มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดของสหราชอาณาจักร เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุด ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Lancet เพื่อทดลองการฉีดวัคซีนผสมต่างยี่ห้อ 2 ตัว ปรากฏว่า พบผลข้างเคียงมากขึ้น โดยศึกษาจากผู้ที่ได้รับวัคซีนต้านโควิดของ AstraZeneca เป็นเข็มแรก ตามด้วยวัคซีนของ Pfizer เป็นเข็มที่ 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์ 

ผู้ที่ได้รับวัคซีนผสมดังกล่าว ต่างแจ้งว่า เกิดอาการข้างเคียงมากขึ้น อย่างเช่นอาการอ่อนเพลีย และปวดศีรษะ แต่เกิดขึ้นในเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่วัน และส่วนใหญ่เกิดอาการข้างเคียงเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม มีประมาณ 10% ของผู้ได้รับวัคซีนผสม 2 ยี่ห้อ ที่แจ้งว่า มีอาการอ่อนล้าอย่างหนัก 

ส่วนผลการทดลองฉีดวัคซีน 2 ยี่ห้อดังกล่าวแบบสลับลำดับกัน คือฉีดวัคซีนของ Pfizer ก่อน แล้วตามด้วย AstraZeneca ผู้ที่ได้รับวัคซีน ก็ยังคงแจ้งว่า เกิดอาการข้างเคียงเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดดังกล่าวนี้ "ยังเป็นเพียงผลการศึกษาในเบื้องต้น" เท่านั้น และกำลังศึกษาต่อว่า การฉีดวัคซีนผสมต่างยี่ห้อนี้ จะทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการต้านไวรัสโควิด-19 หรือไม่ รวมทั้งทางอ็อกซฟอร์ด ยังมีแผนจะนำวัคซีนอีก 2 ยี่ห้อ ของบริษัท Moderna กับ Novavax เข้าร่วมการศึกษาการฉีดวัคซีนแบบผสมด้วย

ขณะนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและนักวิจัยกำลังศึกษาว่า การฉีดวัคซีนแบบผสม โดยเข็มแรก กับเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนคนละยี่ห้อกัน จะยังคงมีความปลอดภัย และยังคงมีประสิทธิภาพในการต้านโควิด-19 หรือไม่ และจะมีผลข้างเคียงร้ายแรงใดหรือไม่ 

ถ้าหากผลการศึกษาพบว่าปลอดภัยและผลข้างเคียงไม่รุนแรง จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบริหารวัคซีนที่แต่ละประเทศมีอยู่ โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนวัคซีน รวมไปถึงบางประเทศ ที่ได้เริ่มใช้การฉีดวัคซีนแบบผสมต่างยี่ห้อไปแล้ว อย่างเช่นในฝรั่งเศส.

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง