TNN online อย. ยืนยัน ยังไม่มีการนำเข้าวัคซีนโควิด "ไฟเซอร์"

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

อย. ยืนยัน ยังไม่มีการนำเข้าวัคซีนโควิด "ไฟเซอร์"

 อย. ยืนยัน ยังไม่มีการนำเข้าวัคซีนโควิด ไฟเซอร์

อย. แจงข้อเท็จจริงกรณีนำวัคซีนโควิด-19 จากบริษัท "ไฟเซอร์" (Pfizer) เข้าประเทศไทยบางส่วนแล้ว ยืนยัน "ไม่เป็นความจริง" บริษัทยังไม่ขอนำเข้าและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.

วันนี้ (5 พ.ค.64) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลว่า ขณะนี้มีการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เข้ามาใช้ในประเทศไทยในภาวะฉุกเฉินแล้ว ยืนยันว่า บริษัท ไฟเซอร์ ยังไม่มีการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เข้ามายังประเทศไทย ซึ่งหากมีการนำเข้ามาจริง จะต้องผ่านด่านอาหารและยาของอย.ก่อน เบื้องต้นได้ตรวจสอบทั้งหมดแล้ว พบว่า ยังไม่มีการนำเข้ามา 

โดยได้มีการติดต่อไปยังบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย ซึ่งทางบริษัท ได้ยืนยันกับทางอย.ว่า ยังไม่มีการมาขอยื่นขึ้นทะเบียนในไทย ซึ่งทางบริษัทไฟเซอร์ ระบุว่า ทางบริษัทมีนโยบายว่าจะขายให้กับทางภาครัฐเท่านั้น

 อย. ยืนยัน ยังไม่มีการนำเข้าวัคซีนโควิด ไฟเซอร์

ปัจจุบันมีวัคซีนที่มาขอขึ้นทะเบียนกับอย.มีอยู่ 3 ราย คือ วัคซีนแอสตร้าเซนาก้า โดยบริษัทแอสตร้าเซนาก้า ประเทศไทย วัคซีนซิโนแวค องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้มาขึ้นทะเบียน วัคซีนของ บริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งบริษัทนำเข้า คือ บริษัทแจนแซ่น-ซีแลก จำกัด 

นอกจากนี้ มีวัคซีนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการขอขึ้นทะเบียนและอยู่ระหว่างรอการประเมินมีเพียง 1 ชนิด  คือ วัคซีนชนิด mRNA ของโมเดอร์นา (Moderna) ที่ดำเนินการนำเข้าและขึ้นทะเบียนโดย บริษัทซิลลิคฟาร์มาจำกัด  

โดยมีอีก 2 บริษัทที่อยู่ระหว่างกาขอขึ้นทะเบียน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการทยอยยื่นเอกสาร เนื่องจากเอกสารยังไม่ครบ โดยเป็นวัคซีนโควัคซีนของภารัต ไบโอเทค (BHARAT BIOTECH) ประเทศอินเดีย นำเข้า โดยบริษัท ไบโอเจเนเทค จำกัด และวัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) นำเข้าโดย บริษัท คินจนไบโอเทค จำกัด 

ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้หากยื่นเอกสารจนครบก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการประเมินต่อไป โดยจะทำการประเมินให้ได้เร็วที่สุดตามมาตรฐานคือ 30 วัน 

 อย. ยืนยัน ยังไม่มีการนำเข้าวัคซีนโควิด ไฟเซอร์

สำหรับกลไกในการนำเข้าวัคซีน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนบริษัทไหน จะต้องมีผู้ยื่นขอขึ้นทะเบียนที่มีใบอนุญาตการนำเข้าถูกต้องจาก อย.ซึ่งการพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัคซีนนั้นได้มีทั้งคณะทำงานจาก อย. และคณะผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกพิจารณาเอกสารต่างๆ กว่าหมื่นหน้า โดยจะดูในเรื่องของคุณภาพมาตรฐาน และความปลอดภัย รวมถึงการบริหารความเสี่ยงเรื่องประสิทธิผลของวัคซีน

สำหรับการขึ้นทะเบียนจะใช้ระยะเวลา 30 วัน แต่ก็เป็นไปตามมาตรฐานสากล ถึงแม้จะมีการประเมินมาแล้วในต่างประเทศก็ตาม แต่ อย.ไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดอีกครั้งโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน

ทั้งนี้ อย. ได้เตือนว่า ไม่ว่ายาหรือวัคซีนใดนำเข้ามายังประเทศไทย โดยไม่มีการขอขึ้นทะเบียนถือว่าเป็นยาไม่มีทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเป็นโทษตามพระราชบัญญัติยา

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง