TNN เปิดชื่อ 18 ประเทศ ระงับฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา

TNN

เกาะติด COVID-19

เปิดชื่อ 18 ประเทศ ระงับฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา

เปิดชื่อ 18 ประเทศ ระงับฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา

เปิดรายชื่อ 18 ประเทศ ประกาศระงับการฉีดวัคซีนโควิดของ "แอสตราเซเนกา" เพื่อทบทวนความปลอดภัย

วันนี้( 17 มี.ค.64) หลังจากที่มีอย่างน้อย 42 ประเทศและสหภาพยุโรปที่อนุมัติให้สามารถใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford University) เป็นกรณีฉุกเฉิน แต่ทันทีที่เกิดกรณีผู้ได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกามีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ที่ประเทศเดนมาร์ก ทำให้หลายประเทศ ประกาศระงับการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาชั่วคราวเพื่อทบทวนความปลอดภัย 


โดยประเทศที่ระงับการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาจนถึงขณะนี้ มีแล้วอย่างน้อย 18 ประเทศ ประกอบด้วย ฝรั่งเศส  เยอรมนี  อิตาลี สเปน  อินโดนีเซีย เนเธอร์แลนด์  ไอร์แลนด์  บัลแกเรีย คีอาร์คองโก โรมาเนีย ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ค นอร์เวย์ ออสเตรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และ  ลักเซมเบิร์ก ซึ่งแต่ละประเทศต่างมีเหตุผลในการตัดสินใจ จากรณีต่างๆเช่น ความกังวลจากกรณีที่มีหญิงชาวเดนมาร์กวัย 60 ปีเสียชีวิตจากอาการเลือดแข็งตัว หลังได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกา กรณีที่รัฐบาลนอร์เวย์ เปิดเผยว่า พบบุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 3 คน เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการเลือดแข็งตัว เกล็ดเลือดต่ำ และมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ 


ด้าน หน่วยงานยาแห่งสหภาพยุโรป หรือ EMA ยังคงมีคำแนะนำให้แต่ละประเทศใช้งานวัคซีนของแอสตราเซเนกา เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทั้งนี้ EMA  ระบุว่าควรใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาต่อไป แต่ก็จะสอบสวนเหตุที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน องค์การยาแห่งสหภาพยุโรปได้เปิดเผยสถิติจนถึงวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวนผู้มีอาการเลือดแข็งตัว 30 คน จากจำนวนผู้ฉีดวัคซีนแอสตราฯในยุโรปแล้วเกือบ 5 ล้านคน


ส่วนหน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับโลก อย่างองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาแนะนำว่า แต่ละประเทศไม่ควรระงับการใช้งานวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาเพราะยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หรือ ภาวะเลือดแข็งตัว


อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลก กำลังดำเนินการทบทวนความปลอดภัยของวัคซีนแอสตราฯ โดย ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย องค์การอนามัยโลก นัดประชุมนัดพิเศษร่วมกับ องค์การยาแห่งสหภาพยุโรปเพื่อพิจารณาทบทวนการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งจะใช้เวลาประชุมนัดพิเศษ 2 วัน คือวันพุธกับวันพฤหัสบดีนี้ก่อนพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป


อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลายประเทศทยอยประกาศระงับใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาชั่วคราว แต่ก็ยังมีหลายประเทศที่เดินหน้าใช้วัคซีนชนิดนี้ เช่น สหราชอาณาจักรที่ให้เหตุผลว่า จากหลักฐานที่มีอยู่ไม่ได้บ่งชี้ว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาทำให้เลือดแข็งตัว เช่นเดียวกับรัฐบาลออสเตรเลีย ที่เดินหน้าวัคซีนแอสตราเซเนกา ด้วยเหตุผลเดียวกับสหราชอาณาจักร 


ขณะที่เกาหลีใต้ ซึ่งเลือกใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกาและเป็นประเทศที่มีการผลิตวัคซีนชนิดนี้ในประเทศ ยืนยันจะเดินหน้าใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาต่อ โดยเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศแผนแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ระยะที่สอง โดยจะมุ่งไปที่ผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าให้มากขึ้น ภายใต้เป้าหมายฉีดประชากรให้ได้เกือบ 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 25% ของทั้งประเทศ ภายในเดือนมิถุนายนนี้ แม้ว่าต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จะมีรายงานว่า เกาหลีใต้พบผู้เสียชีวิต 8 ราย หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาเพียงไม่กี่วัน โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ในศูนย์ดูแลระยะยาวและมีอาการป่วยด้วยโรคประจำตัวอยู่แล้ว ซึ่งทางการเกาหลีใต้ สรุปว่า สาเหตุการเสียชีวิตทั้ง 8 ราย มีความเป็นไปได้ยากว่าจะเกิดจากผลข้างเคียงของวัคซีน


ส่วนประเทศไทยอย่างที่ทราบกันว่า ได้ประกาศชะลอการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาเข็มแรกให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รวมถึงคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา จนกระทั่งตัดสินใจกลับมาฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาอีกครั้งเมื่อวานนี้ (16 มี.ค.) 




ข่าวแนะนำ