TNN online แพทย์ห่วงโควิด-19 ในไทย 'วิกฤต' มีโอกาสจะรุนแรงมากขึ้น

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

แพทย์ห่วงโควิด-19 ในไทย 'วิกฤต' มีโอกาสจะรุนแรงมากขึ้น

แพทย์ห่วงโควิด-19 ในไทย 'วิกฤต' มีโอกาสจะรุนแรงมากขึ้น

แพทย์ห่วงโควิด-19 ในไทย 'วิกฤต' มีโอกาสจะรุนแรงมากขึ้น ตรวจเชิงรุกแล้วเจอเยอะไม่ใช่สัญญาณที่ดี

วันนี้ (27ม.ค.64) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์ “โควิด-19” ผ่านทางเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” มีเนื้อหาดังนี้...

สถานการณ์ทั่วโลก 27 มกราคม 2564

อินโดนีเซียเกินล้าน เป็นประเทศที่ 19 ของโลก

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 546,926 คน รวมแล้วตอนนี้ 100,712,573 คน ตายเพิ่มอีก 16,005 คน ยอดตายรวม 2,162,461 คน อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 140,432 คน รวม 25,953,131 คน ตายเพิ่มอีก 3,108 คน ยอดตายรวม 433,915 คน อินเดีย ติดเพิ่ม 11,558 คน รวม 10,689,268 คน บราซิล ติดเพิ่มถึง 83,221 คน รวม 8,933,356 คน รัสเซีย ติดเพิ่ม 18,241 คน รวม 3,756,931 คน สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 20,088 คน รวม 3,689,746 คน

สหราชอาณาจักรมีจำนวนติดเชื้อต่อวันลดลงในขณะนี้ ไม่ใช่เพราะได้รับวัคซีนนะครับ การลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เราเห็นตอนนี้เกิดจากการล็อคดาวน์ เนื่องจากวัคซีนเพิ่งได้รับการฉีดไป 7.33 ล้านโดส (ข้อมูลถึงวันที่ 25 มกราคม 2564) คิดเป็น 10.79% ของจำนวนประชากรทั้งหมดเท่านั้น

อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลายหมื่นต่อวัน แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

เมียนมา เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลักร้อยถึงเฉียดพัน ส่วนจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กัมพูชา และเวียดนาม ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ ...สถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 411 คน ตายเพิ่มอีก 13 คน ตอนนี้ยอดรวม 138,368 คน ตายไป 3,082 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2%...

ภาพรวมทั่วโลกสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น กลุ่มสหภาพยุโรปก็กำลังกังวลกันว่าวัคซีนโควิดที่ทำสัญญาจองกันไว้ล่วงหน้านั้นทำท่าว่าจะมีการส่งมอบล่าช้ากว่ากำหนด

ณ 25 มกราคม 2564 มีการฉีดวัคซีนกันไปทั้งสิ้น 69.6 ล้านโดสทั่วโลก

ประเทศที่ฉีดเยอะสุดคืออเมริกา 23.54 ล้านโดส ตามมาด้วยจีน 15 ล้านโดส สหราชอาณาจักร 7.33 ล้านโดส อิสราเอล 4.04 ล้านโดส และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2.68 ล้านโดส

หากดูเฉพาะสัดส่วนของประชากรในแต่ละประเทศที่ได้รับ"วัคซีนครบตามกำหนดจริงๆ" จะพบว่ายังน้อยมาก เรียงตามลำดับคือ อิสราเอล 15.19% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2.53% ไอซ์แลนด์ 1.4% อเมริกา 1.05% และสหราชอาณาจักร 0.7%

ดังนั้นหากดูรายละเอียดแล้ว ผลของวัคซีนในการควบคุมการระบาดของโลกนั้นน่าจะอีกนานพอสมควร ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนประมาณนี้ อย่างเร็วก็จะเริ่มเห็นผลในระดับพื้นที่หรือระดับประเทศตั้งแต่ช่วงหลังมีนาคมเป็นต้นไปครับ

วิเคราะห์สถานการณ์ของเรา...

วาทกรรมประเภท "ช่วงนี้เจอเยอะ เพราะตรวจเชิงรุก หารังปลวก สถานการณ์จะดีขึ้นเร็ว" นั้น ดูจะเป็นเหตุเป็นผล แต่เป็นเหตุผลแบบกำปั้นทุบดินเกินไป คือ เห็น A เพราะเราทำ B

ทั้งนี้มิได้อธิบายความจริงที่ว่า การที่ตรวจเชิงรุกแล้วเจอเยอะนั้นไม่ใช่สัญญาณที่ดีเอาเสียเลย เพราะแปลว่า ก่อนหน้านี้เราไม่ได้ตรวจมากเพียงพอและมาตรการไม่ได้เคร่งครัดเพียงพอ จึงมีการติดเชื้อแพร่เชื้อกันไปมากมาย พอลองหันมาตรวจ ก็เจอกันยุ่บยั่บดังที่เห็น

นอกจากนี้จำนวนที่เจอนั้นก็อาจเป็นเพียง "หนึ่งในฝูงปลา" ที่กำลังว่ายอยู่ในมหาสมุทรเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรทำให้คนเห็นว่าตรวจเจอเยอะแล้วดี หรือจะจบ แต่มันคือ Red Flag ที่บอกว่า "สถานการณ์วิกฤติ" ยากต่อการจัดการ และต้องใช้เวลาและทรัพยากรต่างๆ อีกมากในการจะกำราบการระบาดครั้งนี้ครับ

สอดคล้องกับลักษณะเคสติดเชื้อที่เราเห็นกันมาตลอดในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการแพร่กระจายเชื้อในหลากหลายกลุ่มเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง และหลายพื้นที่ แถมยังมีในคนทั่วไปที่ใช้ชีวิตประจำวันด้วย

จากการวิเคราะห์ในมุมมองของผม บอกตรงๆ ว่า "วิกฤติ" และมีโอกาสจะรุนแรงมากขึ้น

ประชาชนทุกคนคงต้องพึ่งตนเอง ป้องกันตนเองและครอบครัวอย่าให้ติดเชื้อ วางแผนชีวิตการทำงาน การเรียน การเงิน การจับจ่ายใช้จ่าย ให้ดี เพราะนี่จะต้องสู้ระยะยาว จัดการพื้นที่ในบ้านไว้เผื่อหากมีใครในบ้านไม่สบาย จะได้แยกให้พักอย่างเป็นสัดส่วน


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com 
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live 
twitter : TNNONLINE 
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE 
Instagram : TNN_ONLINE 
TIKTOK : @TNNONLINE


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง