TNN online นักวิจัยไทย เตรียมฉีดทดลองวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในลิงสัปดาห์หน้า

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

นักวิจัยไทย เตรียมฉีดทดลองวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในลิงสัปดาห์หน้า

นักวิจัยไทย เตรียมฉีดทดลองวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในลิงสัปดาห์หน้า

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เผย เตรียมฉีดวัคซีน ชนิด "mRNA" ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดให้กับ "ลิง" ในสัปดาห์หน้า หลังได้ผลเป็นที่น่าพอใจใน "หนู" คาดใช้เวลา 3-6 เดือนรู้ผล หากผลทดลองดี เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนทดลองในมนุษย์

วันนี้ (21 พ.ค.63) วันนี้ (21 พ.ค.63) ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านนวัตกรรมการแพทย์ การวิจัยและพัฒนา เปิดเผยกับ "สำนักข่าว TNN ช่อง 16" ว่า ในวันที่ 23 พ.ค. จะลงพื้นที่ "ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ" ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อดูการเตรียมความพร้อม ในขั้นตอนการทดลองวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในสัตว์ใหญ่ คือ "ลิง" ซึ่งที่ศูนย์ดังกล่าว ก่อตั้งมาได้ 3 ปี เพื่อรองรับการวิจัยขั้นตอนในสัตว์ใหญ่ทางด้านการแพทย์ในประเทศไทย 

หลังจาก ที่นักวิจัย จุฬาลงกรณ์ ประสบความสำเร็จ ในขั้นทดลองในหนูก่อนหน้านี้ ซึ่งขั้นตอนในลิง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน เนื่องจากต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นหลายครั้ง เพื่อดูภูมิคุ้มกันในลิงว่าตอบสนองดีหรือไม่ 

"ในแต่ละขั้นตอน จะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน เนื่องจากการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่จะทำการฉีดกระตุ้น 2-3 ครั้ง เมื่อฉีดครั้งแรกไปแล้ว ประมาณ 1 เดือน จะฉีดเข็มที่2 เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน อีกประมาณ 2-3 เดือน"  ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าว

นักวิจัยไทย เตรียมฉีดทดลองวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในลิงสัปดาห์หน้า

หากผลออกมาดี จากนั้นถึงจะสู่ขั้นตอนทดลองในมนุษย์ อีก 3 ระยะ คือ

ระยะแรก ฉีดในจำนวนคนไม่มากนัก เพื่อดูว่าสิ่งที่ฉีดเข้าไปปลอดภัยหรือเปล่า เช่น ร่างกายมีปฏิกิริยาอะไรไหม มีไข้ หรือไม่ หรือ มีผลข้างเคียงอะไรไหม

ระยะสอง ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เมื่อฉีดเข้าไปแล้ว ผลออกมาอย่างไร

ระยะสาม การประเมินผู้ที่ได้รับวัคซีนจำนวนมากในสถานการณ์จริง

"การพัฒนาวัคซีนขั้นต่อไป หลังจากพ้นในการทดสอบในหนูแล้ว จะเป็นการทดสอบในลิง ซึ่งมีความคลายคลึงกันกับในมนุษย์ ขั้นตอนนี้ จะทำการฉีด mRNAวัคซีน ในลิง เพื่อดูว่า วัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันตัวเชื้อได้ดีหรือไม่ ระยะต่อไปก็จะทำการทดสอบระยะที่ หากลิงติดเชื้อ จะสามารถป้องกันเชื้อได้หรือไม่ ถ้าผลการทดสอบออกมาดี จะเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบในคน" ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับ ความก้าวหน้าเทคโนโลยีเร็วที่สุดในการพัฒนาวัคซีน ตอนนี้ มี 2 เทคโนโลยี จากทั้งหมด 5 แบบ คือ "DNA วัคซีน" ส่วนนี้ได้มีการประเมินทดลองเบื้องต้นในหนูเรียบร้อยแล้ว ผลออกมาพบว่า เป็นที่น่าพอใจ

ส่วน "mRNA วัคซีน" ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ที่ยังไม่มีการนำมาใช้มาก่อน ข้อดี คือ ถ้าสามารถใช้ได้จะสามารถใช้ได้ในปริมาณไม่มากนัก เพื่อกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกัน หมายความว่า สามารถใช้กับคนจำนวนมากได้ 

นักวิจัยไทย เตรียมฉีดทดลองวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในลิงสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ไทยได้ วางไว้ 3 แนวทางที่ดำเนินการควบคู่กันไป คือ การสนับสนุนวัคซีนในประเทศให้พัฒนาขึ้น ร่วมมือกับต่างประเทศ ในการวิจัยพัฒนาวัคซีน เช่น ประเทศไหนทำได้ดี ไทยก็เข้าไปร่วมด้วย หรือ ไทยทำได้ดีในส่วนใดก็เข้าร่วมกัน แบ่งปันกัน ขณะนี้ มี สหรัฐอเมริกา แคนนาดา และจีน และ เตรียมแผน กรณีนำเข้าวัคซีน หากประเทศไหนประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีน 

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ระบุว่า วัคซีนจะเป็นเครื่องมือสำคัญทางการแพทย์ ในการที่จะป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อ แต่เนื่องจากโรคโควิด-19 มีการติดเชื้อในประชาชนบางกลุ่ม อาการจะรุนแรง และทำให้ผู้ป่วยมีจำนวนมาก อีกทั้ง เชื้อโควิด-19 เป็นเชื้อใหม่ คนทั่วโลกเลยยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งการป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อ วิธีเดียว คือ ต้องมีวัคซีน ทั่วโลกจึงมีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนา ผลิตวัคซี 

"ปกติแล้ว จะใช้ระยะเวลานาน กว่าจะได้วัคซีน แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ไม่สามารถที่จะรอได้ จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ทำให้มีการร่วมมือระหว่างประเทศ และในประเทศ โดยเป้าหมายหลักของไทย คือ ต้องมีวัคซีนใช้อย่างรวดเร็ว และให้ประชาชนไทยได้รับวัคซีนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก" ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าว

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง