TNN online "นพ.ยง" ไขปม 9 คำถามโควิด ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร-ต้องฉีดวัคซีนไหม?

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

"นพ.ยง" ไขปม 9 คำถามโควิด ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร-ต้องฉีดวัคซีนไหม?

นพ.ยง ไขปม 9 คำถามโควิด ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร-ต้องฉีดวัคซีนไหม?

"หมอ ยง" ไขปม 9 คำถามเกี่ยวกับโควิด-19 ที่สังคมอยากรู้ ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร-ต้องฉีดวัคซีนไหม-ควรกลัวนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือไม่?

วันนี้ ( 15 ม.ค. 66 )ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโควิด-19 โดยจะขอตอบดังนี้คือ

1. สถานการณ์เป็นอย่างไร? ขอตอบว่า สถานการณ์โควิดอยู่ในขาลง และจะลงไปเรื่อยๆ จนถึงเดือนพฤษภาคม เมื่อเข้าฤดูฝนก็จะพบมากขึ้นอีกเป็นระลอกขึ้นมา ทั้งนี้เพราะประชากรไทยติดเชื้อไปมากกว่าร้อยละ 70 และโรคเข้าสู่ฤดูกาล

2. นักท่องเที่ยวต่างชาติน่ากลัวไหม? ขอตอบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะนำเชื้อสายพันธุ์ใหม่เข้ามา โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีน และทำให้เกิดการติดเชื้อระลอกใหม่ขึ้นได้ สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างยิ่งขณะนี้คือ XBB.1.5 ที่ระบาดมากในอเมริกา และแนวโน้มในยุโรปก่อนที่จะกระจายไปทั่วโลก และเราต้องระวังสายพันธุ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นด้วย

3. การเฝ้าระวังการระบาดจากการท่องเที่ยวทำได้อย่างไร? ในทางปฏิบัติ ถ้านักท่องเที่ยวใส่หน้ากากอนามัย ก็จะลดการแพร่กระจาย โดยเฉพาะผู้ที่ป่วย แต่คงยากที่จะไปบังคับนักท่องเที่ยว การเฝ้าระวังของเรา และป้องกันตัวเราจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราจำเป็นที่จะต้องตรวจสายพันธุ์จากนักท่องเที่ยวที่มาป่วยที่บ้านเรา หรือมีการสุ่มตรวจด้วยความสมัครใจ รวมทั้งเฝ้าระวังตรวจสายพันธุ์ในผู้ป่วยคนไทยด้วย เพื่อเป็นสัญญาณเตือน

4. ประชากรไทยติดเชื้อไปแล้วเท่าไหร่? จากการศึกษาที่ศูนย์ ด้วยการตรวจเลือด 2 โครงการ พบว่าในภาพรวมติดเชื้อไปแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 โดยในเด็กตั้งแต่อนุบาลขึ้นไปติดเชื้อไปแล้วถึงร้อยละ 80 ผู้ใหญ่ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี ติดเชื้อไปแล้วประมาณร้อยละ 70 ผู้ ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ติดเชื้อไปแล้วประมาณร้อยละ 50 แต่เมื่อตรวจภูมิต้านทานของทุกกลุ่มอายุ พบว่า มากกว่าร้อยละ 96 ตรวจพบภูมิต้านทานแล้ว เกิดจากการฉีดวัคซีนและหรือการติดเชื้อ ภูมิต้านทานที่ตรวจพบเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้โรคลดความรุนแรงลงเมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนมีวัคซีน

5. ประชากรไทยยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่? ในกลุ่มเสี่ยงสูง มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนโควิดเป็นระยะ โดยเฉพาะที่ฉีด หรือติดเชื้อ นานมาแล้วเกิน 4-6 เดือน ในคนที่ปกติแข็งแรงดี รวมทั้งเด็ก ถ้าเคยฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มมาแล้ว หรือร่วมกับ การติดเชื้อ จะรอไว้ก่อนก็ได้ โดยเฉพาะระยะนี้อยู่ขาลง ถ้าโรคอยู่ในขาขึ้นหรือมีระลอกใหม่ก็ควรจะต้องรีบฉีดวัคซีนกระตุ้น

6. วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน? ขณะนี้มีข้อมูลค่อนข้างชัดเจนขึ้นมากว่า วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ ไม่ได้ดีไปกว่าวัคซีนเดิมเท่าไหร่ ระดับภูมิต้านทานเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีน mRNA ชนิดเดิมในเข็มกระตุ้น กับ 2 สายพันธุ์ จึงไม่ได้แตกต่างกันมาก การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้น 2 สายพันธุ์ เป็นการศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดกระตุ้น (ในอเมริกาตอนนี้ไม่มีวัคซีน mRNA ชนิดสายพันธุ์เดียวแล้ว) พบว่าการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน 2 สายพันธุ์กระตุ้น ทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 - 40 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น ประสิทธิภาพจะลดลงตามระยะเวลา ดังนั้นในกลุ่มเสี่ยงเราจะไม่รอวัคซีน 2 สายพันธุ์ ถ้าถึงเวลาที่ต้องกระตุ้นสามารถกระตุ้นได้เลย

7. หน้ากากอนามัยยังจำเป็นไหม? ยังจำเป็นเมื่อเข้าไปอยู่ในที่ปกปิด เช่นในรถไฟฟ้า รถบัส รถเมล์ หรือที่คนหมู่มาก การอยู่กลางแจ้งจะจำเป็นสำหรับ ผู้ที่ป่วยมีโรคทางเดินหายใจ ควรจะใส่ตลอดเวลา เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ

8. หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กอนุบาล และประถมยังจำเป็นไหม? การดูแลหน้ากากอนามัยของเด็กเล็กทำได้ยาก เด็กมักจะใช้มือจับต้องอยู่ตลอด ดังนั้นในเด็กอนุบาลหรือเด็กประถมอาจไม่จำเป็น ควรไปเน้นการป้องกันเรื่องการล้างมือ สุขอนามัย สถานที่เรียนให้สะอาด 

 9. ลองโควิด และมิสซี (MISC) พบได้บ่อยไหม? ลองโควิด เป็นอาการที่เกิดขึ้น และหลงเหลืออยู่หลังเป็นโควิด ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้สึก เช่นเหนื่อยหายใจลำบาก หัวมึนตื้อ นอนไม่หลับ ทานอาหารไม่อร่อย พบได้บ่อยในปีแรกๆ ของการระบาดที่โรคมีความรุนแรง และลดลงในปีที่ผ่านมาในยุคของ โอมิครอน ส่วนมิสซี เป็นปฏิกิริยาของภูมิต้านทานเชิงระบบ พบในระยะที่มีการติดเชื้อ เด็กไทยติดเชื้อไปแล้วถึงร้อยละ 80 จำนวนตัวเลขที่พบยังไม่แน่นอน แต่เชื่อว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับผู้ป่วยทั้งหมดที่ติดเชื้อไปแล้วในเด็กหลายล้านคน


ข้อมูลจาก :นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ 

ภาพจาก  : นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง