TNN online วัคซีน "Bivalent" อัปเดตผลศึกษาลดความเสี่ยงนอนรพ.ถึง 81%

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

วัคซีน "Bivalent" อัปเดตผลศึกษาลดความเสี่ยงนอนรพ.ถึง 81%

วัคซีน Bivalent อัปเดตผลศึกษาลดความเสี่ยงนอนรพ.ถึง 81%

หมอธีระ อัปเดตผลการศึกษาวัคซีนโควิด-19 ชนิด "Bivalent" ลดความเสี่ยงป่วยหนักนอนรพ. 81% และลดเสียชีวิต 86%

หมอธีระ อัปเดตผลการศึกษาวัคซีนโควิด-19 ชนิด "Bivalent" ลดความเสี่ยงป่วยหนักนอนรพ. 81% และลดเสียชีวิต 86% 


ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า  


"10 มกราคม 2566

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 191,994 คน ตายเพิ่ม 955 คน รวมแล้วติดไป 668,843,970 คน เสียชีวิตรวม 6,714,874 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน และฮ่องกง

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.49 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 89.31

การเสียชีวิตจากโควิด-19

ประมาณวันนี้ เมื่อ 3 ปีก่อน มีรายงานคนเสียชีวิตรายแรกจากโควิด-19 ที่จีน ผ่านมาจวบจนถึงปัจจุบัน ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 6.7 ล้านคนในระบบรายงาน  แต่ในความเป็นจริง หลายฝ่ายย่อมตระหนักดีว่า จำนวนเสียชีวิตที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะมากกว่าตัวเลขในระบบรายงานอย่างมาก

แม้แต่ทีมงานจากองค์การอนามัยโลก ก็ออกรายงานวิชาการ เผยแพร่ในวารสารระดับโลกอย่าง Nature เมื่อเดือนธันวาคมปี 2565 ที่ผ่านมา โดยนำเสนอข้อมูลว่า จำนวนเสียชีวิตส่วนเกินที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ในแต่ละประเทศทั่วโลกนั้นสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาก่อนมีการระบาดอย่างชัดเจน มากน้อยแตกต่างกันไป

ทั้งนี้จากปีพ.ศ.2563-2564 หรือช่วงสองปีแรกของการระบาดนั้น ประเมินว่ามีคนที่ติดเชื้อแล้วเสียชีวิตไปมากกว่าที่อยู่ในระบบรายงาน (5.4 ล้านคน) อย่างน้อย 2.74 เท่า หรืออย่างน้อยราว 15 ล้านคน

เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ไทยเรานั้น หากดูข้อมูลจาก Ourworldindata จะพบว่ามีจำนวนการเสียชีวิตส่วนเกิน (excess death) ต่อประชากร สูงกว่าหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาซึ่งเป็นยุค Omicron ระบาด

ข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เราเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ควรประมาท เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว

อัปเดตความรู้วัคซีนโควิด-19 ชนิด Bivalent

ล่าสุด Arbel R และคณะจากประเทศอิสราเอล เผยแพร่ผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนชนิด Bivalent 

ศึกษาในประชากรสูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จำนวนรวม 622,701 คน โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีน Bivalent จำนวน 85,314 คน และกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน Bivalent จำนวน 537,387 คน

สาระสำคัญ พบว่า วัคซีน Bivalent ช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 81% และลดความเสี่ยงเสียชีวิต 86% ในช่วงเวลา 2 เดือนที่ติดตามผล

ผลการวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นประโยชน์ในการใช้วัคซีน Bivalent สอดคล้องกับหลายการศึกษาก่อนหน้านี้

การอัปเดตความรู้อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เรารู้เท่าทันสถานการณ์รอบตัว และสามารถนำมาใช้ประเมินเราเองได้ว่า ณ จุดนี้ เราเป็นเช่นไร มีความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับภัยคุกคามจากไวรัสที่พัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ ได้หรือไม่ 

อาวุธที่มี ทั้งยาที่ใช้รักษา และวัคซีนที่ใช้ป้องกัน มีเพียงพอ ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของไวรัสมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญคือ เข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและทันเวลาหรือเปล่า

คำถามข้างต้นนั้นสำคัญยิ่ง ท่ามกลางการเหยียบคันเร่งเศรษฐกิจ อ้าแขนรับการเดินทางท่องเที่ยวจำนวนมาก ที่เพิ่มความเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวัน

...ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ใช้ความรู้ที่ถูกต้องในการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติ ไม่ประมาท

ไม่ควรหลงเชื่อคำยุยงด้วยความเชื่องมงายที่จะให้เลิกใส่หน้ากาก ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะสุดท้าย ยามแจ็คพอตเจ็บป่วย ไม่สบาย หรือสูญเสีย คนที่เผชิญกับความทุกข์คือคนที่หลงเชื่อจนเกิดความเสี่ยงต่อตนเองและครอบครัว 

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างทำงาน เรียน หรือเดินทางท่องเที่ยว เป็นหัวใจสำคัญยิ่ง ที่จะช่วยให้เราลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

...ป้องกันตนเองให้ดีนะครับ...

อ้างอิง

1. Msemburi W et al. The WHO estimates of excess mortality associated with the COVID-19 pandemic. Nature. 14 December 2022.

2. Arbel R et al. Effectiveness of the Bivalent mRNA Vaccine in Preventing Severe COVID-19 Outcomes: An Observational Cohort Study. SSRN (Preprints with the Lancet). 3 January 2023."





ภาพจาก Thira Woratanarat / AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง