TNN online "แพทย์" ยกผลวิจัย ตอกย้ำ "ข้อดี" การฉีดวัคซีนโควิด-19

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

"แพทย์" ยกผลวิจัย ตอกย้ำ "ข้อดี" การฉีดวัคซีนโควิด-19

แพทย์ ยกผลวิจัย ตอกย้ำ ข้อดี การฉีดวัคซีนโควิด-19

นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค ระบุ การคัดกรองก่อนเดินทาง 48 ชั่วโมง ช่วยป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้น้อย ซึ่ง หากอยากได้ผลดีต้องตรวจวันเดินทาง แต่การปฏิบัติจริงไม่สามารถปฏิบัติได้ //ด้านแพทย์ ยกผลวิจัยจากสหรัฐฯ ตอกย้ำถึงข้อดีของการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถป้องกันได้ทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยระบุว่า วัคซีนช่วยป้องกันทั้งตัวเรา และคนรอบข้าง พร้อมยกผลการวิจัยจากสหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำของรัฐแคลิฟอร์เนีย 35 แห่ง ในช่วงที่โควิดสายพันธุ์โอมิครอนระบาด  ประชากรที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นเพศชาย  สาระสำคัญที่พบ คือ ผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน จะมีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ร้อยละ 36  ส่วนผู้ที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หากติดเชื้อ จะมีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่น น้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยมีโอกาสเพียงร้อยละ 28  หากวิเคราะห์เปรียบเทียบแล้ว พบว่า การฉีดวัคซีนจะช่วยลดโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ ถึงร้อยละ 22 นอกจากนี้ คนที่เคยฉีดวัคซีน และเคยติดเชื้อมาแล้ว จะลดโอกาสแพร่ให้คนอื่นถึง ร้อยละ 40 ผลการศึกษานี้ ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน // นอกจากเกิดประโยชน์ต่อตัวเอง เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดเสี่ยงป่วยรุนแรง เสียชีวิต และลองโควิด  ยังเกิดประโยชน์ต่อคนใกล้ชิด และลดความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นด้วย 



ด้าน ดร. อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. โพสต์ข้อมูลกรณีการคัดกรองนักท่องเที่ยวก่อนเดินทาง 48 ชั่วโมง โดยระบุว่า มีประโยชน์ต่อการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้น้อยมาก ซึ่งหากไม่ตรวจคัดกรองโอกาสการแพร่เชื้ออยู่ที่ร้อยละ 40 และหากมีการตรวจก่อนเดินทาง 2 วัน หรือ 48 ชั่วโมง  โอกาสการแพร่เชื้อจะลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นไม่ถึงร้อยละ 5 ดังนั้น การคัดกรองก่อนเดินทางให้ได้ผลดีที่สุด คือการตรวจก่อนขึ้นเครื่อง หรือ วันเดินทาง ซึ่งช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ประเด็นสำคัญ คือ ไม่มีใครใช้มาตรการนี้ได้ในสถานการณ์จริง และความเห็นส่วนตัว มองว่าการคัดกรองนักท่องเที่ยว ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีมากขึ้น 




นอกจากนี้ ดร.อนันต์ ยังกล่าวถึง โควิดสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่กำลังระบาดครองพื้นที่ในสหรัฐอเมริกา และอาจจะระบาดในยุโรปในไม่ช้า ว่า XBB.1.5 เป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่แตกมาจาก XBB เดิม ซึ่งเคยระบาดในอินเดีย และ สิงคโปร์ มาเมื่อไม่กี่เดือนก่อน  เชื่อว่า XBB เปลี่ยนตัวเอง ต่อเมื่อเริ่มกินพื้นที่ในสหรัฐอเมริกา การเปลี่ยนแปลงของ XBB.1.5 เทียบกับ XBB เดิม มีแค่ 2 ตำแหน่ง แต่ตำแหน่งที่นักไวรัสวิทยา สนใจคือ S486P // ซึ่ง ข้อมูลจากทีมวิจัยในปักกิ่งเปรียบเทียบแล้ว พบระดับการหนีภูมิคุ้มกันไม่แตกต่าง


ข้อสังเกตคือ หากเทียบ XBB+S486P กับ BA.2.75 ซึ่ง เป็นสายพันธุ์หลักของไทยตอนนี้  จะเห็นว่า BA.2.75 ยังจับโปรตีนตัวรับได้แน่นกว่า หาก มองมุมนี้ XBB.1.5 ไม่ได้ดูน่ากลัวกว่า BA.2.75  แต่ถ้าในอนาคต ประเทศไทยมี XBB.1.5 เข้ามาครองพื้นที่ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาตอนนี้  น่าจะเป็นคุณสมบัติ ที่ XBB.1.5 หนีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน และจากธรรมชาติได้ดีกว่าสายพันธุ์เดิม  ซึ่ง ขณะนี้ยังคาดการณ์ไม่ได้ เพราะ BA.2.75  ยังไม่เคยเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ มองว่า การใช้คำว่า “ซุปเปอร์แวเรียนท์ (Super variant) ซึ่ง หมายถึงสายพันธุ์ระดับที่น่ากังวล สำหรับ XBB.1.5 อาจไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เพราะอย่างน้อยมีหนึ่งคุณสมบัติที่ XBB.1.5 ยังสู้ BA.2.75 ไม่ได้

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง