TNN online หมอธีระเผยข้อมูล “ฝุ่นPM2.5” เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ “โควิด-19”

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

หมอธีระเผยข้อมูล “ฝุ่นPM2.5” เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ “โควิด-19”

หมอธีระเผยข้อมูล “ฝุ่นPM2.5” เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ “โควิด-19”

หมอธีระเผยข้อมูลการวิจัย “ฝุ่นPM2.5” เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ “โควิด-19” โรคแขวนในอากาศได้นานขึ้น

วันนี้ ( 18 พ.ย. 65 )ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า

"PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19"

Sheppard N และคณะ จากมหาวิทยาลัยโมนาร์ช ประเทศออสเตรเลีย ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์อภิมานจากงานวิจัยทั่วโลกจำนวน 18 ชิ้น

พบว่า ฝุ่น PM.2.5 มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 

ทั้งนี้ หากสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 ในสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (μg/m3) จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 66%

จากการวิจัยต่างๆ ที่มีนั้น แม้จะยังฟันธงถึง cause-effect relationship ไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดของการออกแบบแต่ละการวิจัย แต่อย่างน้อยก็สะท้อนถึงความสำคัญของสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะมีฝุ่นหรือไม่มีก็ตาม จากความรู้ที่เราเคยมีอยู่ว่า หากอยู่ในพื้นที่ หรือสถานที่ที่ระบายอากาศไม่ดี อากาศนิ่ง ย่อมมีโอกาสสูงที่เชื้อโรคจะแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นาน และทำให้คนในพื้นที่หรือสถานที่นั้นมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น 

...อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อ (positivity rate) ของไทย

ชัดเจนว่า ปัจจุบันต้องป้องกันตัวให้ดี เพราะอัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อกลับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (23.87% ณ 22 ตุลาคม 2565) 

ข้อมูลที่เห็นนั้นบอกถึงเรื่องในอดีตที่ผ่านมาอย่างชัดเจน ว่าเหตุใดจึงต้องหยุดยั้งการระบาดให้ได้ในระลอกแรก (มีนาคม 2563) ที่ขณะนั้นไม่มีความพร้อมที่จะสู้กับโรคระบาดใหม่ที่รุนแรง ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของโรคอย่างดีพอ ไม่มียา ไม่มีวัคซีน

ในช่วงปลายปี 2563 จนถึงต้นปี 2564 ช่วงระลอกสอง สะท้อนให้เข้าใจถึงผลลัพธ์ของการระบาดวงกว้าง นำไปสู่การระบาดต่อเนื่องในชุมชน และการปะทุซ้ำระยะยาว

นอกจากนั้น ความหนักหนาสาหัสของระลอกสามจากอัลฟ่าและเดลต้า ส่งผลให้การระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ววงกว้างนับจากช่วงสงกรานต์เป็นต้นมา โดยมีประเด็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีน ทั้งเรื่องชนิด ประสิทธิภาพ ความเพียงพอ และเงื่อนเวลา และมีการติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงผลกระทบระยะยาวอย่าง Long COVID ในคนจำนวนไม่น้อยตามมา 

สุดท้ายคือ ระลอกล่าสุดจาก Omicron ว่าหนักหนากว่าเดลต้า ตัวเลขย่อมสะท้อนทางอ้อมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อในสังคม และอาจเป็นตัวอธิบายเรื่องจำนวนการเสียชีวิตส่วนเกินจากทุกสาเหตุ (excess death) ที่สูงกว่าหลายประเทศทั่วโลก ดังที่เห็นจาก Ourworldindata

ดังนั้น จึงควรป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ประมาท การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนดจะช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID 

ที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน ทำงาน เรียน หรือท่องเที่ยว จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก


ข้อมูลจาก :  เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

ภาพจาก  :   TNN ONLINE 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง