TNN online ห่วงโควิดโอมิครอนเริ่มกลายพันธุ์คล้ายเดลตา ติดแล้วอาการรุนแรงขึ้น

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ห่วงโควิดโอมิครอนเริ่มกลายพันธุ์คล้ายเดลตา ติดแล้วอาการรุนแรงขึ้น

ห่วงโควิดโอมิครอนเริ่มกลายพันธุ์คล้ายเดลตา ติดแล้วอาการรุนแรงขึ้น

หมอธีระเผยงานวิจัยห่วงโควิดโอมิครอนเริ่มกลายพันธ์คล้ายเดลตา ผู้ที่ติดเชื้อเกิดปัญหาการป่วยรุนแรงได้มากกว่า

ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า

อัปเดตจาก WHO

องค์การอนามัยโลกออกรายงานล่าสุด WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อคืนนี้ 16 พฤศจิกายน 2565 ปัจจุบันไวรัสสายพันธุ์ Omicron ครองการระบาดทั่วโลก 99.2%

ทั้งนี้หากวิเคราะห์สายพันธุ์ย่อยหลัก จะพบว่า BA.5 มีสัดส่วน 73.2%, BA.2 เหลือ 6.3%, BA.4 ลดลงเหลือ 3.5% และสายพันธุ์ย่อยอื่นที่ยังไม่ได้ระบุ 14.4%

สำหรับสายพันธุ์ย่อยที่เป็นที่จับตามองเพราะเกิดจากการกลายพันธุ์ต่อยอดจากกลุ่ม BA.5 และ BA.2 นั้น พบว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 

BQ.1.x เพิ่มเป็น 16.2% 

BA.5 ที่กลายพันธุ์เพิ่มหลายตำแหน่ง (R346X, K444X, V445X, N450D and/or N460X) เพิ่มเป็น 23.3% โดยกว่า 80% ของกลุ่มนี้ เป็น BA.5 ที่มีการกลายพันธุ์ตำแหน่ง R346X

BA.2.75 เพิ่มเป็น 5.4%

และ XBB เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 2%

...สายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มีแนวโน้มใช้กลไกคล้ายเดลต้ามากขึ้น...

งานวิจัยของ Aggrawal A และคณะจากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ในวารสารการแพทย์สากล eBioMedicine เดือนตุลาคม 2565

ชี้ให้เห็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงของไวรัส Omicron สายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ที่กลายพันธุ์ต่อยอดจาก BA.5 ซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันว่า มีแนวโน้มย้อนกลับไปใช้กลไกการจับเซลล์ผ่านตัวรับ TMPRSS2 คล้ายกับสายพันธุ์เดลต้ามากขึ้น

ทั้งนี้เราทราบกันดีว่า กลไกนี้จะทำให้จับกับเซลล์ทางเดินหายใจส่วนล่างได้มากขึ้น จึงอาจทำให้ผู้ที่ติดเชื้อเกิดปัญหาการป่วยรุนแรงได้มากกว่า Omicron สายพันธุ์ก่อนๆ เช่น BA.1, BA.2, BA.4 และแม้แต่ BA.5 เอง ซึ่งเคยได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่าใช้กลไกอื่นในการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์คือ endocytosis 

...สำหรับไทยเรา ตอนนี้การติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากชัดเจน

จำเป็นต้องตระหนักถึงสถานการณ์ อัพเดตความรู้ที่ถูกต้องและทันต่อเวลา

ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง แออัด ระบายอากาศไม่ดี

หมั่นสังเกตอาการตนเองและคนรอบข้างที่พบปะ หากไม่สบาย ไอ เจ็บคอ ไข้ ปวดหัวปวดกล้ามเนื้อ คัดจมูก เสียงเปลี่ยน/เสียงแหบ ให้คิดถึงโควิด-19 ไว้ด้วยเสมอ และควรทำการตรวจรักษา ไม่คลุกคลีกับผู้อื่น

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างตะลอนทำงาน เรียน หรือท่องเที่ยว จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ติดเชื้อไม่จบแค่ชิลๆ แต่ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID


ข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

ภาพจาก  : AFP 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง