TNN online อย่าประมาท! หมอธีระ คาดติดโควิดรายใหม่พุ่ง 1.5 หมื่นคนต่อวัน

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

อย่าประมาท! หมอธีระ คาดติดโควิดรายใหม่พุ่ง 1.5 หมื่นคนต่อวัน

อย่าประมาท! หมอธีระ คาดติดโควิดรายใหม่พุ่ง 1.5 หมื่นคนต่อวัน

หมอธีระ คาดยอดติดเชื้อโควิดรายใหม่พุ่ง 1.5 หมื่นคนต่อวัน แนะใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่แออัด

หมอธีระ คาดยอดติดเชื้อโควิดรายใหม่พุ่ง 1.5 หมื่นคนต่อวัน แนะใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่แออัด


ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า


"15 พฤศจิกายน 2565...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 134,206 คน ตายเพิ่ม 503 คน รวมแล้วติดไป 640,493,594 คน เสียชีวิตรวม 6,616,130 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญึ่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.14 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 90.45


อัปเดตความรู้โควิด-19 "แม้ติดเชื้อมาก่อน ก็มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้"

Kahn F และคณะจากสวีเดน เผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv เมื่อวานนี้ โดยศึกษาในกลุ่มประชากรวัยผู้ใหญ่ จำนวน 71,592 คน ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ พบว่าคนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 ก่อนหน้าสายพันธุ์ Omicron และคนที่ติดในช่วง Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.1 มาก่อนนั้น ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ 

ในขณะที่คนที่เคยติดเชื้อในช่วงสายพันธุ์ Omicron มาก่อน หากเป็นช่วง BA.2 อาจช่วยลดโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ราว 85% และคนที่ติดในช่วง BA.5 อาจช่วยลดโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ราว 66% อย่างไรก็ตาม ผลในการป้องกันจะลดลงอย่างมากหลัง 5-6 เดือนนับจากที่ติดเชื้อมา

ผลการศึกษานี้ตอกย้ำให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างระมัดระวัง ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ แม้จะเคยติดเชื้อมาก่อนก็ตาม การติดเชื้อไม่จบแค่ชิลๆ ป่วย หรือตาย แต่ยังมีความเสี่ยงต่อเรื่องผลกระทบระยะยาวอย่าง Long COVID จากการติดเชื้อแต่ละครั้งอีกด้วย "กว่า 90% ของคนติดเชื้อครั้งแรกโดยสายพันธุ์ Omicron นั้นจะมีอาการ"

Doll MK และคณะจากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ศึกษาในกลุ่มประชากรอายุ 30-64 ปี ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน สุขภาพแข็งแรง โดยไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน จำนวน 274 คน ติดตามดูในช่วงมิถุนายน 2564 ถึงกันยายน 2565 เป็นระยะเวลา 48 สัปดาห์ คนที่ติดเชื้อในช่วง Omicron ระบาดนั้น มีถึง 93.3% ที่เป็นการติดเชื้อแบบมีอาการ ในขณะที่คนที่ติดเชื้อในช่วงเดลต้า ทุกคนก็มีอาการป่วย จะเห็นได้ว่าการติดเชื้อแบบไม่มีอาการนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นไม่มากนัก ผลการศึกษานี้ชี้ให้เราเห็นความสำคัญของการปฏิบัติตัว 

หากใครมีอาการป่วย เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ จำเป็นต้องนึกถึงเรื่องโควิด-19 เสมอ ควรทำการตรวจ ATK และแยกตัวจากคนอื่น เพื่อป้องกันการแพร่ไปให้ผู้อื่น ทั้งในบ้าน ในที่ทำงาน และในชุมชน

ในขณะเดียวกัน ประชาชนในสังคมก็สามารถสังเกตคนที่เราพบปะในชีวิตประจำวัน หากมีอาการไม่สบายข้างต้น ก็ควรหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปคลุกคลีใกล้ชิด ลดระยะเวลาพบปะ รักษาระยะห่างจากคนป่วย และป้องกันตัวอย่างเหมาะสม 

"สตรีที่มีครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 อาจทำให้รกอักเสบ และสัมพันธ์กับทารกตายคลอด"

Schwartz DA และคณะ จากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานวิชาการในวารสารทางการแพทย์สูตินรีเวช American Journal of Obstetrics and Gynecology เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา จากการศึกษาพยาธิสภาพของรกจากสตรีที่ตั้งครรภ์แล้วเกิดภาวะทารกตายคลอด (Stillbirth)  ชี้ให้เห็นสมมติฐานของกลไกพยาธิสภาพที่จะเกิดขึ้นในรก โดยหากเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ไวรัสจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด และไปที่รก ติดเชื้อในเซลล์ Syncytiotrophoblast และทำให้เกิดกระบวนการอักเสบของรกตามมา โดยเชื่อว่ากลไกนี้จะสัมพันธ์กับการเกิดปัญหาทารกตายคลอด


...สถานการณ์ในไทยตอนนี้ หลายคนทราบกันดีว่ามีการติดเชื้อรอบตัวมากขึ้นชัดเจน 

จากรายงานทางการเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลในสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวประเมินว่าจำนวนติดเชื้อใหม่อย่างน้อย 15,077 คนต่อวัน จึงควรใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างการทำงาน เรียน หรือท่องเที่ยว จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ความใส่ใจสุขภาพ (Health consciousness) เป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นตัวกำหนดความเสี่ยงของแต่ละคนแต่ละครอบครัว"





ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง