TNN online ติดโควิดต้องรู้! หมอธีระ แนะกักตัวกี่วันถึงจะปลอดภัย

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ติดโควิดต้องรู้! หมอธีระ แนะกักตัวกี่วันถึงจะปลอดภัย

ติดโควิดต้องรู้! หมอธีระ แนะกักตัวกี่วันถึงจะปลอดภัย

หมอธีระ ไขข้อสงสัยสถานการณ์ "โควิด" วางใจได้จริงหรือ? แนะวิธีการกักตัวกี่วันถึงจะปลอดภัย ถ้ายังขึ้น 2 ขีดควรทำอย่างไร

หมอธีระ ไขข้อสงสัยสถานการณ์ "โควิด" วางใจได้จริงหรือ? แนะวิธีการกักตัวกี่วันถึงจะปลอดภัย ถ้ายังขึ้น 2 ขีดควรทำอย่างไร


ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า


"9 พฤศจิกายน 2565...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 256,121 คน ตายเพิ่ม 486 คน รวมแล้วติดไป 638,289,692 คน เสียชีวิตรวม 6,607,583 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญึ่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.46 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.51


...ตอนนี้สถานการณ์โควิดวางใจได้จริงหรือ?

หลังตรวจคนไข้ท่านหนึ่งเสร็จเมื่อวานนี้ ได้รับคำถามว่า "ตกลงตอนนี้โควิดดีขึ้นจริงหรือคะ? ทำไมช่วงนี้คนรอบตัวติดกันเยอะ แม้แต่คนที่ไม่เคยติดมาตลอดทุกซีซั่น ก็ยังมาพลาดท่าติดตอนนี้"

ได้ตอบคำถามไปโดยมีสาระสำคัญดังนี้ สถานการณ์ระบาดยังมีการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง แม้แต่ที่ทำงาน/สถานพยาบาล/มหาลัย ก็ยังมีติดอยู่ทุกวัน

ทางการรายงานสถานการณ์แค่รายสัปดาห์ และเป็นเพียงจำนวนตัวเลขผู้ป่วยที่ต้องมานอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้คนทั่วไปที่ไม่เข้าใจรายละเอียดจะรู้สึกว่าน้อย ทั้งๆ ที่ความจริง การติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันมีจำนวนมากกว่านั้นมาก

คาดประมาณว่า ตอนนี้แต่ละวันอาจติดเชื้อใหม่ราว 13,000 คน  ดังนั้นจึงควรรู้เท่าทันสถานการณ์ ใช้ชีวิตไม่ประมาท และป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก และเป็นปราการด่านสุดท้ายที่เราทุกคนจะทำได้ด้วยตนเอง


การแยกตัวจากผู้อื่นเมื่อติดเชื้อ

ดังที่เคยได้นำเสนอข้อมูลทางการแพทย์ที่พิสูจน์แล้วจากทั้ง UK และ US ว่า หากติดเชื้อ การแยกตัวจากคนใกล้ชิดและคนอื่นนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง และควรแยกตัวให้นานเพียงพอ หากแยกตัว 5 วัน จะยังมีโอกาสที่จะมีเชื้อและแพร่ให้คนอื่นได้สูงถึง 50-67% ในขณะที่ 7 วัน มีโอกาสราว 25-33% และ 10 วัน จะมีโอกาสราว 10% แต่นาน 14 วันจะปลอดภัย


ในทางปฏิบัติแล้ว แยกตัวสองสัปดาห์คงลำบาก จึงแนะนำให้แยกตัว 7-10 วัน โดยหลังจากอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK ได้ผลลบ ถ้าจำเป็นก็กลับออกมาใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากเสมอ หากต้องบริการหรือคลุกคลีคนจำนวนมาก ควรใส่ N95 หรือเทียบเท่า ก็จะลดความเสี่ยงลงไปได้มาก


แต่หากเป็นนักเรียนนิสิตนักศึกษา ทางโรงเรียนและมหาลัยควรให้น้องๆ เรียนทางออนไลน์ จะดีกว่ามาออนไซต์ จนกว่าจะเป็นระยะปลอดภัย จะได้ไม่แพร่กันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่ห่วงนั้นไม่ใช่แค่ตอนป่วยระยะแรก แต่ห่วงเรื่อง Long COVID ด้วย


ผลกระทบจาก Long COVID ต่อแรงงานในระบบ

ข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา ลงใน Wall Street Journal เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ระบุถึงผลการวิเคราะห์คาดประมาณจากทีมเศรษฐศาสตร์จาก Stanford และ MIT ว่า ภาวะเจ็บป่วยระยะยาวจาก Long COVID นั้นทำให้แรงงานในระบบหายไปถึง 500,000 คนในอเมริกา ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และปัญหาด้านภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพระยะยาว

เรื่อง Long COVID จึงตอกย้ำให้ทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญในการควบคุมป้องกันโรค ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบ ก็จะช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID ได้ด้วย"





ภาพจาก รอยเตอร์/TNN Online

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง