TNN online ติดเชื้อไม่จบแค่หาย หากเกิดภาวะ "ลองโควิด" บั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างมาก

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ติดเชื้อไม่จบแค่หาย หากเกิดภาวะ "ลองโควิด" บั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างมาก

ติดเชื้อไม่จบแค่หาย หากเกิดภาวะ ลองโควิด บั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างมาก

หมอธีระ เปิดข้อมูล ย้ำติดเชื้อโควิดไม่จบแล้วหายแต่ป่วยรุนแรงได้ ภาวะ Long COVID เกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย ส่งผลบั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างมาก

วันนี้ (24 ก.ค.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า 24 กรกฎาคม 2565...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 675,618 คน ตายเพิ่ม 867 คน รวมแล้วติดไป 574,392,124 คน เสียชีวิตรวม 6,402,011 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ อิตาลี และออสเตรเลีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 78.85 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 54.32

...สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...BA.5 ไม่กระจอก

"เราผ่านระบาดใหญ่มา ต่อจากนี้ไปจะเป็นเพียงระลอกเล็กๆ" เป็นวาทกรรมที่อาจนำไปสู่หายนะได้ หากประมาท

เห็นได้จากสถานการณ์หลายต่อหลายประเทศที่แม้จะโดน Omicron BA.1/BA.2 ระบาดใหญ่มาก่อน แต่ขณะนี้ก็มี BA.5 ครองการระบาด โดยมีระลอกใหญ่ขึ้นกว่าเดิมหรือเทียบเท่า 

เช่น ญี่ปุ่น ที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันขณะนี้ถึงราว 200,000 คน มากกว่าระลอกก่อนเกือบ 2 เท่า

หรือแม้แต่ อิตาลี ที่ระลอกนี้สูงกว่าระลอกมีนาคม 1.4 เท่า

หรือแม้แต่ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ที่ระลอกนี้สูงเทียบเท่ากับระลอกมีนาคมที่ผ่านมา

จำนวนการติดเชื้อใหม่ที่เกิดขึ้นได้มาก เพราะสมรรถนะการแพร่เชื้อติดเชื้อไวกว่าเดิม ดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนและภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อมาก่อน ทำให้กลุ่มเป้าหมายของไวรัสนั้นครอบคลุมทั้งแบบติดเชื้อใหม่ (new infection) และติดเชื้อซ้ำ (reinfection) 

การป้องกันตัวแบบ non-pharmacological interventions จึงมีความสำคัญมาก ได้แก่ การลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำวันที่มีการคลุกคลีใกล้ชิด ที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี รวมถึงการแชร์ของกินของใช้  และเรื่องการใส่หน้ากาก 

ทั้งนี้การติดเชื้อ ไม่จบชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ 

ดังที่เราเห็นบทเรียนจากประเทศต่างๆ มากมายขณะนี้ที่มีจำนวนการป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และอัตราส่วนของจำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากรล้านคน สูงขึ้นชัดเจน เช่น กลุ่มประเทศยุโรป รวมถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

สุดท้ายแล้ว ติดเชื้อ ป่วย หรือหาย ถือเป็นผลลัพธ์ระยะสั้น

แต่หากรุนแรงจนเสียชีวิต ผลกระทบระยะยาวย่อมเกิดกับครอบครัว

และแม้รักษาจนหายในช่วงแรก ความรู้จากการวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า โอกาสเกิดประสบปัญหาอาการผิดปกติทางร่างกายและอารมณ์/จิตใจในระยะยาว หรือ Long COVID นั้นมีตั้งแต่ 5-30% 

เกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรงก็ตาม

ข้อมูลล่าสุดโดย Giszas B และคณะ จากประเทศเยอรมัน เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ระดับสากลด้านโรคติดเชื้อ Infection เมื่อ 22 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

ศึกษาในผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 909 คน โดยครึ่งหนึ่งเคยมีประวัติติดเชื้อมาก่อนนานกว่า 1 ปี และกว่า 90% ที่นานกว่า 9 เดือน

สาระสำคัญที่พบคือ มีถึง 643 คน (70.7%) ที่ประสบปัญหาอาการคงค้างต่างๆ หลังติดเชื้อ โดยมี 189 คน คิดเป็น 29.4% ของกลุ่มนี้ ที่รายงานว่าอาการคงค้างบั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างมาก

ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ในกลุ่มคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ประสบปัญหา Long COVID ซึ่งส่งผลบั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างมากสูงราว 20% หรือ 1/5 สอดคล้องกับที่ทาง US CDC ได้สรุปไว้เช่นกัน

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนะครับ สำคัญมาก...

อ้างอิง

Giszas B et al. Post-COVID-19 condition is not only a question of persistent symptoms: structured screening including health-related quality of life reveals two separate clusters of post-COVID. Infection. 22 July 2022.



ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก TNN ONLINE  / AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง