TNN online ATK ขึ้น 2 ขีด! "หมอยง" เปิดข้อควรรู้ในการใช้ชุดตรวจโควิด-19

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ATK ขึ้น 2 ขีด! "หมอยง" เปิดข้อควรรู้ในการใช้ชุดตรวจโควิด-19

ATK ขึ้น 2 ขีด! หมอยง เปิดข้อควรรู้ในการใช้ชุดตรวจโควิด-19

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แนะ ผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด ไม่มีความจำเป็นที่ต้องตรวจ ATK ซ้ำ หรือติดตามว่าเมื่อไหร่จะให้ผลลบ โดยทั่วไปแล้วเชื้ออยู่ในร่างกาย และสามารถแพร่กระจายได้

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ Antigen Test Kit หรือ ATK ผู้ที่ตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย ชุดตรวจ ATK ต้องทำความเข้าใจก่อน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนใช้วิธีการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK กันอย่างมาก 

ทำให้ล่าสุด วันนี้ (22 มิ.ย.65) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊ก "Yong Poovorawan" ในประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า

เราใช้วิธีการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK กันมาก และรู้จักคำว่า "2 ขีด" แปลว่า "ตรวจพบแอนติเจนของไวรัส" ซึ่ง ATK เกือบทั้งหมด ใช้ nucleocapsid โปรตีน ดังนั้นถ้าเอาวัคซีนเชื้อตาย Sinovac มาหยอดใส่  ATK จะได้ผลบวก (2 ขีด) 

ส่วนวัคซีนอื่น แม้กระทั่ง Covovax (Novavax) จะให้ผลลบ เพราะเป็นโปรตีนส่วนสไปรท์ ดังรูป

ATK ขึ้น 2 ขีด! หมอยง เปิดข้อควรรู้ในการใช้ชุดตรวจโควิด-19 ภาพจาก Yong Poovorawan

ความไวของ ATK สู้การตรวจโควิด-19 ด้วย RT-PCR ไม่ได้ เนื่องจากความไวจะประมาณ 60-80 เปอร์เซ็นต์

ATK ที่ให้ผลบวกจะอยู่ในช่วงที่มีปริมาณไวรัสสูง หรือ Ct ของ RT-PCR ต่ำกว่า 28

ในผู้ป่วยที่ตรวจพบ ATK  2 ขีดมีความจำเพาะสูง ดังนั้นส่วนมากที่ตรวจพบ 2 ขีดจะเป็นการติดเชื้อจริง

ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะตรวจพบ ATK เป็น 2 ขีด ได้เปอร์เซ็นต์ที่สูงหลังมีอาการ 3 ถึง 5 วัน และก็จะให้มีเปอร์เซ็นต์การให้ผลลบเพิ่มขึ้น โดยที่ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดหลัง 10 วันไปแล้ว  ATK มักจะให้ผลลบแล้ว ตรงข้ามกับ RT-PCR  จะยังคงให้ผลบวกหรือตรวจพบอยู่หลายสัปดาห์

ผู้ป่วยที่มีอาการมากจะตรวจพบ ATK  ผลบวกอยู่ได้นานกว่าผู้ที่มีอาการน้อย แต่โดยรวมแล้วเมื่อเกิน 10 วันไปแล้วส่วนมาก (มากกว่า 90%) จะให้ผลลบ 

สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องตรวจ ATK ซ้ำ หรือติดตามว่าเมื่อไหร่จะให้ผลลบ โดยทั่วไปแล้วเชื้ออยู่ในร่างกาย และสามารถแพร่กระจาย และมีชีวิตติดต่อได้ หรือตรวจพบได้จากการเพาะเชื้อ ไม่เกิน 10 วัน ในคนที่แข็งแรงและภูมิต้านทานปกติ การกักตัวปัจจุบันจึงให้อยู่ในเกณฑ์  7 วัน หลังมีอาการขึ้นอยู่กับอาการมากหรือน้อย หลังจากนั้นให้ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดในการลดการแพร่กระจายเชื้อ จนครบ 10 วัน

ในผู้สัมผัสโรคและมีความเสี่ยงสูง ควรตรวจ ATK ในวันที่ทราบหรือสัมผัสโรค และหลังจากนั้นตรวจในวันที่ 3 และ 7 ก็เพียงพอแล้ว.


ข้อมูลและภาพจาก Yong Poovorawan

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง