TNN online เล่าเรื่องจาก Lab เด็กติดโควิดรอบ2 ตรวจ ATK น้ำลายเป็นลบ เพาะเชื้อเจอ BA.2

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

เล่าเรื่องจาก Lab เด็กติดโควิดรอบ2 ตรวจ ATK น้ำลายเป็นลบ เพาะเชื้อเจอ BA.2

เล่าเรื่องจาก Lab เด็กติดโควิดรอบ2 ตรวจ ATK น้ำลายเป็นลบ เพาะเชื้อเจอ BA.2

ดร.อนันต์ เล่าเรื่องจาก Lab เด็กติดโควิดรอบสองตรวจ ATK น้ำลายเป็นลบ ลองเพาะเชื้อเจอ BA.2

วันนี้( 5พ.ค.65) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เกี่ยวกับ ไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า 

"วันหยุดพอมีเวลาเล่าเรื่องจาก Lab บ้างครับ...

เมื่อช่วงเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมามี line เข้ามาจากน้องที่ทำงานบอกว่า ลูกสาวไปติดโควิดมาจากโรงเรียนอนุบาล (เป็นคลัสเตอร์ทั้งห้อง) พร้อมผลตรวจ ATK จากที่ swab จมูกออกมาเป็นบวก เนื่องจากเด็กน้อยคนนี้เคยติดโควิดช่วงเดลต้ามาแล้วรอบนึง การติดครั้งนี้จึงเป็นการติดซ้ำรอบที่สอง [โดยตอนนั้นไวรัสเดลต้าที่เริ่มจากน้องคนนี้ได้ส่งต่อไปยังพ่อแม่และ ผมสามารถแยกเชื้อได้จากตัวอย่างน้ำลายของคุณพ่อ เป็นไวรัสสายพันธุ์เดลต้าต้นแบบที่โตดีที่สุดในแล็บตอนนี้] 

การที่น้องติดโควิดอีกรอบผมจึงสนใจอยากได้เชื้อตัวนี้มาศึกษาเพิ่มเติม แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งแรก เพราะน้ำลายของน้องไม่ให้ผล ATK ที่เป็นบวก แสดงว่า ปริมาณไวรัสที่ควรแยกได้จะไม่ง่ายเหมือนเดิมแล้ว คุณแม่ของน้องเลยใช้วิธีล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ซึ่งน้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว และ ส่งตัวอย่างน้ำล้างจมูกมาให้ผมเพาะเชื้อแทน ... เอาจริงๆตอนนั้นที่ผล ATK จากน้ำลายเป็นลบ ผมไม่หวังอะไรมากว่าจะสามารถเพาะเชื้อขึ้น โอกาสสูงที่น้องกำลังจะหายแล้ว และ ไวรัสที่ล้างออกมาถูกเจือจางด้วยน้ำเกลือไปพอสมควร

เมื่อได้ตัวอย่างน้ำเกลือมาแล้ว ลองนำมากรองเอาแบคทีเรีย หรือ เชื้อโรคอื่นๆที่อาจปนเปื้อนมา ก่อนลองเพาะเชื้อลงเซลล์ดู วันรุ่งขึ้นเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่บอกว่า ไวรัสในตัวอย่างนั้นไม่น่าจะใช่ซากเชื้อแล้วหล่ะครับ เช้าวันนี้ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 40 ชั่วโมงหลังลงเซลล์ สิ่งที่เห็นในจานเพาะเชื้อคือ เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างชัดเจน เมื่อไวรัสเข้าติดเชื้อจะมีการสร้างโปรตีนสไปค์ขึ้นมาบางส่วนที่ผิวเซลล์ 

โดยโปรตีนสไปค์นั้นจะไปจับกับโปรตีนตัวรับ ACE2 ของเซลล์ข้างๆ และ เกิดปรากฏการณ์หลอมรวมกันของเซลล์ กลายเป็นรูปร่างเซลล์ใหญ่ๆที่มีนิวเคลียสรวมกันอยู่ตรงกลาง เรียกว่า Syncytium และถ้าการหลอมรวมดำเนินต่อไป เซลล์จะหดตัวกลายเป็นก้อนๆ และ พร้อมหลุดออกมาเหมือนในภาพ เป็นสภาวะที่อนุภาคไวรัสถูกปลดปล่อยออกมานอกเซลล์พร้อม

ไปทำลายเซลล์ปกติตัวอื่นต่อ 

ขณะที่เซลล์ที่หลุดออกมาก็เสียสภาพตายไปในที่สุด ผมลองเอาน้ำเลี้ยงเซลล์มา 10 ไมโครลิตร ซึ่งน้อยมาก หยดลงบน ATK ก็เป็นไปตามคาดครับว่า ไวรัสของน้องเพาะขึ้นได้อย่างงดงาม

ก่อนนำไวรัสลงเพาะในเซลล์ ได้สกัด RNA ไปทำ RT-PCR เพื่อตรวจเช็คสายพันธุ์คร่าวๆ ซึ่งก็เป็นไปตามคาดว่า น้องติด BA.2 มา โชคดีที่น้องมีอาการไข้สูงเพียง 1-2 วัน และ อาการโดยรวมถือว่าดีขึ้นมาก แต่ข่าวไม่ค่อยดี คือ คุณแม่ที่ดูแลน้องมีอาการเจ็บคอ ร้อนตา และ พบ ATK เป็นบวกแบบจางๆแล้วเมื่อเช้า ซึ่งคุณแม่เคยติด Delta มา และ ได้วัคซีน Moderna ใต้ผิวหนังไปเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ซึ่งน่าจะมีภูมิ Hybrid พอสมควร แต่ดูเหมือนจะไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ BA.2 จากลูกสาว...หวังว่าภูมิจากคุณแม่จะทำให้อาการเบาๆ ไม่หนักเหมือนตอนติดเดลต้าครับ"




ภาพจาก รอยเตอร์/Anan Jongkaewwattana 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง